Skip to content

SocAntNet

Web Logo
292577859 750594722885378 3759253484992839589 N

สรุปปาฐกถาในหัวข้อ

"Cosmopolitan Publics: A Transnational and Relational Approach"

       

                    ในงานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เคย์ ทาคาตะ (髙田 圭) อาจารย์ประจำ                     Hosei University, Research Center for International Japanese Studies in Tokyo ประเทศญี่ปุ่น มาเพื่อเป็นองค์ปาฐกถาในหัวข้อ “Cosmopolitan Publics: A Transnational and Relational Approach” โดยมีเนื้อหา ดังนี้ 

 

Part I. Intro: What is Global Historical Sociology?

ส่วนที่ 1. บทนำ: สังคมวิทยาประวัติศาสตร์โลกคืออะไร?

 

             เคย์ ได้เริ่มจากชวนคิดกับคำถามที่สอดคล้องกับหัวข้องานสัมมนาเครือข่ายฯ ครั้งนี้ในหัวข้อ “Making Senses of the Worlds” ว่า การเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบข้ามชาติอย่างไรถึงจะหลุดพ้นไปจากวิธีคิดแบบตะวันตก โดยสิ่งที่เขาสนใจคือประวัติศาสตร์ของโลกและประวัติศาสตร์ข้ามพรมแดนส่งผลอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

        การตอบคำถามดังกล่าว ต้องเริ่มจากกการเล่าถึงช่วงเวลาที่สังคมวิทยาประวัติศาสตร์เข้าสู่จุดหักเลี้ยวที่เรียกว่า “global/ transnational turn” จุดหักเลี้ยวดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลของการข้ามชาติในกรณีการเคลื่อนไหวทางสังคม หากมองผ่านกรอบของสังคมวิทยาประวัติศาสตร์โลก (Global Historical Sociology) ที่ต้องการทำความเข้าใจสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจุดนี้มาพร้อมกับการศึกษาประวัติศาสตร์ข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการอพยพ (migration history) ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมร่วมสมัยที่บรรษัทข้ามชาติมีบทบาทอย่างสูงด้วย เพียงแต่สังคมวิทยาประวัติศาสตร์โลกจะเน้นไปที่การสร้างเค้าโครงการวิเคราะห์ (analytical schema) เพื่ออธิบายโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อให้เกิดคุณลักษณะการเคลื่อนย้ายข้ามชาติ (Transnational Mobility) ขึ้นมามากกว่า เคย์ได้เสนอให้ใช้มุมมองและวิธีวิทยาที่หลุดออกจากแนวคิดแบบชาตินิยมของประวัติศาสตร์ โดยส่วนประกอบสำคัญสำหรับสังคมวิทยาประวัติศาสตร์โลกมีด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ แนวคิดการเปรียบเทียบแบบสัมพัทธ์ (Relative Comparison) คือการมองหาปรากฏการณ์ข้ามชาติด้วยแนวคิดแบบสัมพันธ์ (relational) และมองหาความแตกต่างในประเทศต่าง ๆ และตัวแสดงของแต่ละประเทศ 

          โดย  ผศ.ดร.กีรติ ชื่นพิทยาธร ได้เสริมว่าปกติแล้ว แนวคิดดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อศึกษาในกรอบของรัฐชาติ แต่เคย์ได้ใช้เปรียบเทียบในภาวะข้ามชาติ (Transnationality) สอง การเชื่อมโยงทางมหภาค-จุลภาค (Macro-Micro Link) ด้านหนึ่ง โครงสร้างระดับมหภาค เช่น นโยบายการส่งเสริมกิจกรรมแบบนานาชาติและข้ามพรมแดน ในขณะที่มีข้อห้ามบางอย่างเกี่ยวกับการเดินทางข้ามชาติ  เช่นเดียวกับ ส่วนมุมมองทางจุลภาคนั้นสนใจว่าผู้คนเชื่อมต่อกันได้อย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในการเชื่อมโยงของอัตลักษณ์และปฏิบัติการของผู้คนแบบข้ามชาติโดยเคย์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับมหภาคจะส่งผลต่อระดับสังคมหรือจุลภาคได้ สุดท้ายคือทฤษฎีเพื่อใช้ยึดโยงความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์และผลกระทบ

            วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเคย์เรื่อง “Cosmopolitan Publics in Isolation: Japanese Global Sixties and Its Impact and Social Change” เป็นการศึกษาช่วงปลาย ค.ศ. 1950s ถึงกลาง 1970s ยุคของจุดเปลี่ยนของการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในลักษณะข้ามชาติอย่างลื่นไหล การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเกิดขึ้นหลายแห่งในโลก เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีขบวนการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในช่วงค.ศ. 1960s ในระดับที่เรียกว่าเป็นประชาคมโลก

           ข้อเสนอของงานศึกษานี้คือ มุมมองต่อโลกในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 (Sixties; 1960s) สำคัญต่อการสร้างแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเคลื่อนไหวข้ามชาติเหล่านี้กลายเป็น “ผลพวงที่ไม่ได้เจตนา” (unintended consequence) คือสิ่งที่เราอาจไม่เข้าใจ แต่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหนือความคาดเดาได้ สิ่งนี้ได้เกิดกับญี่ปุ่นยุค 1960s เขาจึงเสนอแนวคิดจากการสังเคราะห์ทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อเอามาใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว เรียกว่า “Cosmopolitan Publics” คือพื้นที่ของการสื่อสารระหว่างผู้คนและข้อมูลจากหลากหลายชาติ จนเกิดอัตลักษณ์ที่ไร้พรมแดนขึ้นอย่างชั่วคราวนำไปสู่แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

Part II. Theory: Cosmopolitan Publics

ส่วนที่ 2. ทฤษฎี: ความเป็นสาธารณะพลเมืองโลก

 

             เคย์ได้สังเคราะห์กรอบคิด Cosmopolitan Publics จาก 2 แนวคิดหลัก อย่างแรกคือแนวคิดพลเมืองโลก (Cosmopolitanism) อันเป็นแนวคิดปรัชญาการเมืองที่มีที่มาจากงานเขียนของ Immanuel Kant นักปรัชญายุคภูมิธรรมชาวเยอรมันที่เน้นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลก (Globality) และความเป็นสากลของอารยธรรมมนุษย์ซึ่งมีความคิดแบบยุโรปเป็นศูนย์กลางแฝงอยู่ ในทางสังคมวิทยาและแนวคิดทฤษฎีวิพากษ์สายโพสต์โมเดิร์น (เช่น Ulrick Beck, Gerard Delanty) จึงได้พยายามชี้ให้เห็นและจำแนกความหลากหลายของความเป็นพลเมืองโลก (Multi-cosmopolitanism) ดังกล่าวที่มีความเปิดกว้าง การสะท้อนคิด และความสร้างสรรค์มากกว่า โดยเราจะสามารถระบุถึงพลวัตของการเคลื่อนย้ายทางอัตลักษณ์และสังคมแบบข้ามชาตินี้ได้ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) มาประกอบความเข้าใจในส่วนนี้

            ในการพิจารณา Cosmopolitan Publics สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 แง่มุม แง่มุมแรกคือแง่มุมทางการเมืองอันมีที่มาจากงานของ Jürgen Habermas (1964) ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างปฏิสัมพันธ์ของชนชั้นกลาง/กระฎุมพีในปริมณฑลสาธารณะที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นมาจากการมีฉันทามติทางสังคมในหมู่ชนชั้นกระฎุมพีที่เข้าไปมีอำนาจในสถาบันทางสังคมระดับชาติต่างๆ โดยนักคิดคนสำคัญที่นำแนวคิดปริมณฑลสาธารณะแบบฮาเบอร์มาส (Habermasian Public Sphere) มาพิจารณาในบริบทของสภาวะข้ามชาติคือ Nancy Fraser (1990, 2007) ซึ่งตัวเธอกังขาถึงความทรงประสิทธิผลทางการเมือง (political efficacy) ของปริมณฑลสาธารณะแบบข้ามชาติในปัจจุบัน เพราะไม่มีสถาบันทางการเมืองที่สามารถฟอร์มและรองรับการสร้างฉันทามติของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิผลเหมือนสถาบันทางสังคมระดับชาติดังที่งานของ Habermas พิจารณาได้ (ตัวอย่างเช่น UN) นอกจากนี้ การพิจารณา Cosmopolitan Publics ในแง่มุมที่ 2 คือทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับไอเดียจากงานของ Harrison White (1992) และ Eiko Ikegami (2002) มาใช้เป็นรากฐานในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของตัวตนและเครือข่าย (network & identity switch/change) ในปริมณฑลสาธารณะ ซึ่งทำให้เราสามารถ Make sense กับผลกระทบจาก Cosmopolitan Publics ได้กระทำต่อสังคมระดับจุลภาคจนเกิดเป็นผลลัพธ์เฉพาะตัว (unique) ได้ โดยตัวอย่างดังกล่าวก็เช่นกรณีของญี่ปุ่นดังที่ ดร.เคย์ได้ศึกษาในการทำปริญญาเอก 

         สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะแบบ cosmopolitan publics คือพื้นที่สาธารณะระดับรัฐชาติแบบ A มาเจอกับพื้นที่สาธารณะระดับรัฐชาติแบบ B ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นได้ง่ายในสังคมสมัยใหม่ ทำให้อัตลักษณ์และความเป็นรัฐชาติแบบเดียวหายไปชั่วคราว จนเกิดเป็นวิธีคิดและอัตลักษณ์แบบใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

 

Part III. Social Structure: Japan’s Relative Isolationism 

ส่วนที่ 3. (กรณีศึกษา) โครงสร้างทางสังคม: ความโดดเดี่ยวเชิงสัมพัทธ์ของญี่ปุ่น

 

      แนวคิดดังกล่าวเป็นกรอบในการมองการเคลื่อนไหวทางสังคมในญี่ปุ่นช่วง 1960s โดย Cosmopolitan Publics เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐที่ถูกแยกออกมาจากที่อื่น และชาวญี่ปุ่นไม่สามารถเดินทางข้ามชาติได้ในยุค 1960s เคย์พิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการเป็นประเทศโลกที่หนึ่งด้านการมีระบบทุนนิยม มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว และเคยเป็นเจ้าอาณานิคมต่อประเทศเอเชียอื่นๆ ในขณะที่มีคุณสมบัติของประเทศโลกที่สามเนื่องจากไม่ใช่ประเทศตะวันตก และก็เคยตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางการเมือง (kind of colonized) ของอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากการแพ้สงครามดังกล่าวชาติญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานะที่อิหลักอิเหลื่อในชุนชมระหว่างประเทศที่แนวคิดเรื่อง (เส้นทาง) การพัฒนาประเทศ (development path) ครอบงำสังคมโลกเป็นอย่างมากในขณะนั้น แถมญี่ปุ่นนั้นมีเงื่อนไขแตกต่างจากประเทศอื่น ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์การเมืองที่ต่างจากภาคพื้นทวีปยุโรปที่นำไปสู่การก่อร่างของสหภาพยุโรป (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเยอรมนีที่แพ้สงครามเหมือนกัน) รวมไปถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองเหมือนอเมริกาที่ทำให้การท่องเที่ยวต่างประเทศเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด Cosmopolitan Publics ที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในบริบทขณะนั้นมากกว่า

           ด้านการเคลื่อนไหว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง (ที่มุ่งเน้นไปยังการเปลี่ยนแปลงรัฐ) ในญี่ปุ่นไม่สามารถเชื่อมต่อกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเอเชียได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้าย (ด้วยทั้งเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ) ประกอบกับกระแสการต่อต้านญี่ปุ่นในหลายประเทศของทวีปเอเชีย เนื่องจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์จักรวรรดินิยมของญี่ปุ่นที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายในสังคมอื่นๆ ในขณะที่กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองในญี่ปุุ่นมีจุดยืนที่ต่อต้านแนวคิดแบบอเมริกันนิยม ซึ่งแตกต่างจากการเคลื่อนไหวที่อื่น พรมแดน (ทางสังคมและวัฒนธรรม?) ที่กั้นระหว่างสังคมญี่ปุ่นกับสังคมเอเชียอื่นๆ นำไปสู่ข้อจำกัดของการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระดับข้ามชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (New Social Movement) ที่นำไปสู่การก่อตัวของภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเสรีภาพโลก และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองญี่ปุ่นเองก็ได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดที่นักเคลื่อนไหวประเทศอื่นๆโดยเฉพาะประเทศเอเชียด้วยกันมีต่อการกระทำของญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดิ ทำให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองญี่ปุ่นได้ทำการทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของขบวนการของตัวเองและได้เริ่มทำการเคลื่อนไหวทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ดังกล่าวในสังคมญี่ปุ่น นำมาสู่การก่อตัวของแนวคิดพหุวัฒนธรรมจากรากหญ้าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมสูง

        กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอของปาฐกกถานี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงค.ศ. 1960 เป็น “ผลพวงที่ไม่ได้เจตนา” ทำให้การปฏิวัติในระดับโลกไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง cosmopolitan publics ได้เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิดกับนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐชาติของพวกเขาจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม 




 

Reference

Fraser, Nancy. 1990. “Rethinking the Public Sphere: A Contribution to the Critique of Actually Existing Democracy”. Social Text (25/26):56.

Fraser, Nancy. 2007. “Special Section: Transnational Public Sphere: Transnationalizing the Public Sphere: On the Legitimacy and Efficacy of Public Opinion in a Post-Westphalian World”. Theory, Culture & Society, 24(4): 7–30.

Habermas, Jürgen, et al. 1974. “The Public Sphere: An Encyclopedia Article (1964)”. New German Critique, 3: 49–55.

Ikegami, Eiko. 2000. “A Sociological Theory Of Publics: Identity And Culture As Emergent Properties In Networks”. Social Research: An International Quarterly, 67: 989-1030.

White, Harrison C. 1992. “Identity and Control: A Structural Theory of Social Action.” Princeton University Press