เกี่ยวกับงาน
การสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง “เครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” ขึ้นในปี พ.ศ.2544 ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจำนวน 16 แห่ง การจัดสัมมนาเครือข่ายฯ ในรูปแบบการสัมมนาวิชาการประจำปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้าง ต่อยอดความรู้ และสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ โดยการสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นครั้งที่ 23 นี้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ และกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2567 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้หัวข้อ “Softไหน–ละมุนใด: ผัสสะ สภาวะ และคุณค่าในชีวิตร่วมสมัย” [Soft(w)here: Sensibility, Ontology and Ethics]
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา soft power เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงและพูดคุยถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการกำหนดนโยบายระดับชาติ รวมไปถึงการใช้และการให้นิยามของคำดังกล่าว โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ที่ยึดโยงกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก (global capitalism) ประเด็นเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและท้าทายคำจำกัดความอันเป็นต้นทางของมโนทัศน์ดังกล่าว แม้ว่าคำว่า soft power ยังไม่สามารถแปลเป็นภาษาไทยได้อย่างตรงตัว อีกทั้งยังมีความหมายที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมและถูกตีความไปอย่างหลากหลายตามบริบทของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นของสังคมไทยในวงกว้างต่อสิ่งที่เรียกว่า “soft power” หรือ “อำนาจโน้มนำ” “อำนาจอ่อน” “อำนาจละมุน” ในภาษาไทย
อาณาบริเวณศึกษาที่ปัจจุบันกล่าวถึงในแง่ที่เป็น soft power ที่ครอบคลุมถึง soft subjects หลากหลายประเภท เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ การออกแบบ กีฬา เกม อาหาร ฯลฯ เป็นอาณาบริเวณศึกษาที่สังคมศาสตร์ โดยเฉพาะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสามารถร่วมสนทนาและมีคุณูปการ ทั้งในแง่การร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ศึกษาวิจัย ตั้งคำถามและนำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์ โดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น ความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนาและความเชื่อ เพศวิถีและเพศภาวะ อัตลักษณ์ การให้คุณค่าและความหมาย การคุ้มครองสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน สิทธิทางวัฒนธรรม ทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับ soft power รวมไปถึงการตั้งคำถามถึง soft subjects ที่อยู่นอกกรอบการพิจารณา soft power ตามนิยามของรัฐและนโยบายซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
การสัมมนาเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการอภิปราย ถกเถียง และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ soft power และ soft subjects ในมุมมองทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงการสร้างบทสนทนาข้ามศาสตร์และข้ามสาขาวิชา ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ งานสร้างสรรค์ การออกแบบ ประดิษฐกรรม งานช่างฝีมือ ฯลฯ ประเด็นหลักของการสัมมนาฯ ยังให้ความสำคัญกับคำคุณศัพท์ “soft” ซึ่งอาจแปลได้หลายคำ เป็นต้นว่า อ่อน, ละมุน, นุ่มนิ่ม, เบาบาง คำว่า soft เป็นคำคุณศัพท์ที่น่าสนใจ ชวนให้คิดและอภิปรายถกเถียงต่อไปได้หลายมิติแง่มุม โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งแห่งที่ของคำคุณศัพท์นี้ เมื่อใช้ร่วมกับคำอื่น เช่น soft sciences, soft sensory, soft ontology, soft capital, soft skills เป็นต้น
คำว่า soft ยังสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลกร่วมสมัย นั่นคือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล พัฒนาการอย่างต่อเนื่องของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล แพลตฟอร์มออนไลน์ นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในอัตราเร่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่ปรากฏการณ์ disruption และ transformation ที่พลิกผันเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของผู้คนและโครงสร้างสถาบันทางสังคมต่างๆ ก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ ในการศึกษาวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อย่างที่ยากจะจินตนาการในหลายทศวรรษก่อนหน้า
โลกร่วมสมัยที่มนุษย์และสรรพชีวิตกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและผันแปรอย่างรวดเร็ว เรียกร้องต้องการความสามารถในการรับรู้ เรียนรู้ และผัสสะที่ละเอียดอ่อน รวมไปถึงมุมมองและวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่ตระหนักถึงข้อถกเถียงทางปรัชญาที่ว่าด้วยสภาวะ และการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและสรรพชีวิต ซึ่งตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการ “จัดจำแนกประเภท” วัตถุของการศึกษาและสาขาวิชาความรู้ ด้วยเหตุนี้ การศึกษาศิลปะ งานสร้างสรรค์ และ soft subjects ทั้งหลาย จึงเป็นพรมแดนที่สังคมศาสตร์ในปัจจุบันไม่อาจละเลย ยิ่งไปกว่านั้น สังคมศาสตร์ โดยเฉพาะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยายังสามารถมีบทบาทในการเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญระหว่างพรมแดนความรู้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และมนุษยศาสตร์ รวมไปถึงพรมแดนระหว่างการศึกษาวิจัย ปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน และนโยบายสาธารณะ