องค์ปาฐกท่านที่ 1
รองศาสตราจารย์ ดร.ซอ โบ-คยอง (서보경)
Associate Professor Dr. Bo Kyeong Seo
Department of Cultural Anthropology, Yonsei University, Seoul, South Korea
แนะนำองค์ปาฐก โดย รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี
รองศาสตราจารย์ ดร.ซอ โบ-คยอง หรือ อาจารย์โบ นักมานุษยวิทยาชาวเกาหลีใต้ ผู้มีความสนใจประเด็นเกี่ยวกับชีวการแพทย์ ความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพ การเมืองและจริยธรรมในการดูแล สิทธิของการมีชีวิต และประสบการณ์ของผู้คนที่ถูกพรากสิทธิ์
อาจารย์โบสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาในปี 2015 จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University – ANU) ในช่วงของการเขียนวิทยานิพนธ์นั้น งานของเธอได้รับรางวัล Sir Raymond Firth Prize จากภาควิชามานุษยวิทยาที่ ANU สำหรับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่กำลังดำเนินการอยู่และมีความโดดเด่นน่าสนใจเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในปี 2013 บทความจากการวิจัยภาคสนามของเธอยังได้รับรางวัล Rudolf Virchow Award (Graduate Category Essay Prize) จากสมาคมมานุษยวิทยาการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
วิทยานิพนธ์ของเธอ ในชื่อ Suturing the World: The Micro-practices of Care and the Politics of Life in Chiang Mai [เย็บสมานโลก: ปฏิบัติการจุลภาคของการดูแลและการเมืองของชีวิตในเชียงใหม่] เป็นการศึกษาทำความเข้าใจการประกอบสร้างโลกของการรักษาเยียวยา ผ่านปฏิบัติการของการดูแลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของชุมชนสุขภาพในระดับท้องถิ่น เธอใช้เวลาทำวิจัยภาคสนามในประเทศไทยอยู่เป็นเวลาราว 18 เดือนในช่วงปี 2010-2012 เพื่อทำความเข้าใจว่าปฏิบัติการของการให้บริการทางด้านสุขภาพภายใต้นโยบายสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ของการความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การแบ่งฝักฝ่ายทางสังคม และสถานภาพทางเศรษฐกิจของการมีรายได้ปานกลางระดับล่างของไทย งานการศึกษาของเธอมุ่งไปที่การให้บริการทางการแพทย์ต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้อพยพชาวไทยใหญ่ซึ่งปราศจากสัญชาติไทย ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ถักทอขึ้นจากความปรารถนาที่จะดูแล ซึ่งส่งผลในการเชื่อมร้อยผู้คนที่มีความแตกต่างทางการเมือง สังคมวัฒนธรรม และการเข้าถึงนโยบายสุขภาพ ให้สามารถสร้างโลกที่เกื้อกูลและลดร่องรอยของอคติ ความเจ็บป่วย และช่วยสมานบาดแผลของชีวิตให้แก่กันและกันได้
ในปี 2020 สมาคมมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Society for Cultural Anthropology) ของสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน (American Anthropological Association–AAA) ได้มอบรางวัล Cultural Horizons Prize ให้กับบทความจากงานวิจัยภาคสนามของเธอเรื่อง “Populist Becoming: The Red Shirt Movement and Political Affliction in Thailand” บทความดังกล่าวนี้บอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์และภูมิหลังชีวิตของ ป้าตา หญิงเสื้อแดงกับประสบการณ์ของเธอต่อนโยบายประชานิยม การเข้ามามีส่วนในขบวนการเรียกร้องทางเมือง ตลอดจนความรู้สึกและตัวตนของผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง ท่ามกลางขบวนการทางการเมืองขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรง บทความของเธอเน้นไปที่การทำความเข้าใจความมุ่งหวัง ความปรารถนา สายสัมพันธ์ของความใกล้ชิด และความบอบช้ำของปัจเจกในสภาวะดังกล่าวของคนธรรมดาสามัญในขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจารย์โบได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานภาคสนามและความพยายามในการเขียนบทความชิ้นดังกล่าว ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “The Intimate Life of Populism: Interview with Bo Kyeong Seo”
ในปี 2020 วิทยานิพนธ์ขอเธอได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ Eliciting Care: Health and Power in Northern Thailand โดยสำนักพิมพ์ University of Wisconsin Press และได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้าย (Shortlisted) สำหรับรางวัลหนังสือด้านสังคมศาสตร์ดีเด่น จากสมาคมอุษาคเนย์ศึกษาแห่งยุโรป (EuroSEAS Social Science Book Prize)
ที่ผ่านมา อาจารย์โบได้ทำการวิจัยในประเทศไทยและเกาหลีใต้โดยมุ่งเน้นที่การต่อสู้ดิ้นรนของคนจนและคนชายขอบในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ในบริบทของการอพยพข้ามชาติและการถูกตีตรา ผลงานของเธอได้รับการตีพิมพ์ในวารสารมากมาย เช่น Journal of Royal Anthropological Institute, Medical Anthropology และ Medical Anthropology Quarterly ปัจจุบันเธอยังคงทำงานวิจัยและเขียนงานเกี่ยวกับการเมืองและจริยธรรมในการดูแลอยู่อย่างต่อเนื่อง
ในการประชุมเครือข่ายในครั้งนี้ อาจารย์ซอ โบ-คยอง จะเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อเรื่อง
“Care and Justice: Doing Anthropology in Virulent Times”
[การดูแลและความยุติธรรม: การทำงานมานุษยวิทยาในช่วงเวลาของการระบาดติดเชื้อรุนแรง]
องค์ปาฐกท่านที่ 2
ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. เคย์ ทาคาตะ (髙田 圭)
Assistant Professor Dr. Kei Takata
Hosei University, Research Center for International Japanese Studies in Tokyo, Tokyo, Japan
แนะนำองค์ปาฐก โดย ผศ.ดร.กีรติ ชื่นพิทยาธร
ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. เคย์ ทาคาตะ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมวิทยา จาก New School for Social Research, New School University ในมหานครนิวยอร์ก และเคยเป็นผู้ร่วมวิจัยและผู้บรรยายที่ University of Duisburg-Essen, Institute of East Asian Studies/Institute of Sociology ในประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Hosei University, The Research Center for International Japanese Studies ในกรุงโตเกียว
ภาพรวมของงานวิจัยของอาจารย์เคย์นั้น เกี่ยวข้องกับจุดตัดที่สำคัญทางการเมือง วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยมุ่งเน้นความสนใจไปที่ภาคประชาสังคมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศญี่ปุ่น ด้วยมุมมองเชิงเปรียบเทียบและข้ามชาติ ประสบการณ์ข้ามชาติ-ภูมิภาคของอาจารย์เคย์ทั้งใน ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และเอเชียตะวนออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์เคย์พัฒนาความเข้าใจประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงสังคมโลกด้วยพหุโลกทัศน์
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์เคย์ ทาคาตะ ในประเด็นการศึกษาการเปลี่ยนของสังคมญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1960s (หัวข้อวิทยานิพนธ์ Cosmopolitan Publics in Isolation: Japanese Global Sixties and Its Impact and Social Change) ได้รางวัลกิตติคุณ อัลเฟรต ชูสต์ (Alfred Schütz Memorial Award) สาขาปรัชญาและสังคมวิทยา จาก New School for Social Research ซึ่งงานศึกษาชิ้นดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดและภาคปฏิบัติการเชิงความเป็นสากลนิยม(Cosmopolitan) ในยุคแห่งการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในช่วงทศวรรษ 1960s จากการเป็นเอกเทศของสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมญี่ปุ่น ผ่านการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารจากคนในประเทศโลกที่หนึ่ง และประเทศโลกที่ 3 ซึ่งมีนักกิจกรรมญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงลัทธิชาตินิยม ที่ได้รับมาจากช่วงสงคราม และเริ่มหาการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการประเทศเปิดกว้างและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอื่น ๆ
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการเฉลิมฉลอง ความรับผิดชอบต่อสงคราม ความหลากหลาย เช่นเดียวกับ ความเป็นพหุวัฒนธรรม เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะความเป็นสากลนิยมในการเคลื่อนไหวช่วงทศวรรษ 1960s ยิ่งไปกว่านั้น วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ยังให้คุณูปการที่นำไปสู่การพัฒนาวิธีศึกษาสังคมวิทยาประวัติศาสตร์โลก และทฤษฏีสากลนิยมสาธารณะจากประการณ์ที่นอกเหนือจากความคิดตะวันตก
อาจารย์เคย์ ทาคาตะ เป็นผู้ได้รับทุนและเงินสนับสนุนสำคัญหลายแหล่ง รวมถึง มูลนิธิฟูล ไบร์ท (Fulbright Foundation) และทุนสังคมญี่ปุ่น เพื่อการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ (Japan Society for the Promotion of Science) ในโครงการการศึกษา ความเป็นสากลนิยมในประเทศญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1960s และความสัมพันธ์ข้ามชาติกับประเทศโลกที่สาม (Project “Japanese Cosmopolitan Sixties and its Transnational Ties with the Third Worldism”)
อาจารย์เคย์ยังมีงานในโลกภาษาอังกฤษอีกหลายชิ้น อาทิ The Sixties: A Journal of History, Politics and Culture, Moving the Social: Journal of Social History and the History of Social Movements และหนังสือที่เป็นผู้เขียนร่วมในหัวข้อ 1968 – A Global Approach นอกจากโครงการหนังสือที่พื้นฐานมาจากงานปริญญาเอก ณ ปัจจุบัน อาจารย์เคย์กำลังพัฒนางานศึกษาชิ้นใหม่ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงไปสู่เสรีนิยมใหม่ของญี่ปุ่น หลังจากการเคลื่อนไหวในช่วงทศวรรษ 1960s ซึ่งเปรียบเทียบการปรับใช้ของความคิดก้าวหน้าเสรีนิยมใหม่ระหว่างสังคมญี่ปุ่น และสังคมตะวันตก
ในการประชุมเครือข่ายในครั้งนี้ อาจารย์ Kei จะเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อเรื่อง
“Cosmopolitan Publics: A Transnational and Relational Approach”