Skip to content

SocAntNet

Web Logo

เกี่ยวกับการประชุม

“เครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจำนวน 16 แห่ง เครือข่ายฯ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกปี เพื่อต่อยอดความรู้และสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการจากทั่วประเทศ สำหรับการประชุมวิชาการครั้งที่ 21 ประจำปี พ.ศ. 2565 นี้ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุม ในหัวข้อ

“Making Sense of the Worlds : วิธีวิทยาของการประกอบสร้างโลกที่เราอยู่”

“Making sense of the worlds” คือความพยายามกลับมาทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวโลกที่เราอาศัยอยู่ท่ามกลางสภาวะมนุษยสมัย (Anthropocene) ที่มนุษย์ดูเหมือนจะมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของโลกใบนี้ในหลากหลายรูปแบบ (เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ 2564) มนุษย์เองได้เริ่มเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากมนุษย์เท่านั้น และมนุษย์เองก็ไม่สามารถเป็น
ผู้ควบคุมจัดการโลกใบนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (anthropo-not-seen) (De la Cadena 2010) ทว่าในยุคที่โลกมีความพลิกผัน เผชิญกับโรคระบาด ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมือง อคติต่อเพศสภาพและชาติพันธุ์ ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในสภาวะของความไม่มั่นคงนี้ การศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทำให้เรากลับมาทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่มากขึ้น ผ่านการศึกษาทำความเข้าใจวัฒนธรรมชาติและภววิทยาของผู้คน (Descola 2014; Viveiros de Castro 2016) การดำรงอยู่และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ผู้คน และธรรมชาติท่ามกลางซากปรักหักพังของระบบนิเวศและระบบทุนนิยมโลก (Haraway 2016; Tsing 2015) 

ปฏิบัติการเชิงวัตถุ-สัญญะของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Kohn 2013) การเรียนรู้จากวิกฤตการณ์โรคระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส (Latour 2021) การสร้างความหวังและการไม่ยอมจำนนของผู้คนท่ามกลางสภาวะวิกฤต (Jansen 2021; Kleist & Jansen 2016) ตลอดจนการกลับมาทบทวนความรู้ที่ผ่านมา เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันในอนาคต (Pandian 2019) 

การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกที่เราอยู่นี้ทำได้ในหลายลักษณะ ที่ผ่านมานักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามักให้ความสำคัญกับการแสวงหาแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้เรามีแง่มุมของการทำความเข้าใจโลกได้คมชัดและหลากหลายขึ้น ในขณะที่นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาอีกจำนวนหนึ่งสนใจปฏิบัติการทางความรู้ และใช้วิธีการเชิงปฏิบัติการผ่านการทำงานภาคสนาม การเรียนรู้จากผู้คนที่หลากหลาย และการนำเสนอข้อค้นพบต่อสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนประเด็นในเชิงนโยบาย อย่างไรก็ดี ในแวดวงวิชาการของไทย การทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกที่ผ่านมาที่ให้ความสำคัญกับการหยิบยกแง่มุมเชิง  “วิธีวิทยา” ในฐานะกระบวนการสร้างความรู้มาอภิปรายถกเถียงยังมีค่อนข้างจำกัด (ดู จักรกริช สังขมณี 2559; ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล 2554; ยุกติ มุกดาวิจิตร และชัชชล อัจนากิตติ 2564; อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2564)

งานสัมมนาครั้งนี้ภายใต้ชื่อ “Making Sense of the Worlds: วิธีวิทยาของการประกอบสร้างโลกที่เราอยู่” พยายามกระตุ้นให้นักเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาครุ่นคิดและนำเสนอแลกเปลี่ยนมุมมองทางวิธีวิทยาจากงานการศึกษาของตน เพื่อสะท้อนว่าวิธีวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจมิติและการประกอบสร้างโลกที่หลากหลาย (pluriversal worldings) ทั้งจากผู้คนที่มีโลกทัศน์วัฒนธรรมแตกต่างจากเรา และจากสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ซึ่งดำรงอยู่ร่วมโลกหรือคนละโลกกับเราได้อย่างไร

การทำความเข้าใจวิธีวิทยาของผู้คนและสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ร่วมกับเราหรือประกอบสร้างโลกต่างจากเราจะเป็นหนทางของการลดอคติต่อเพื่อนมนุษย์ และให้ความเคารพต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ถักทอขึ้นเป็นความสัมพันธ์ของการดำรงอยู่ร่วมกันกับเรา ในโลกที่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจะอยู่รอดและเป็นความหวังของการสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ ๆ ให้กับสังคมที่ท้าทายนี้ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 2564) จุดเริ่มต้นที่ดีอันหนึ่งคือการเรียนรู้และทบทวนทำความเข้าใจต่อการประกอบสร้างโลกในมิติที่แปลกใหม่ผ่านวิธีวิทยาที่หลากหลายนั่นเอง

อ้างอิง

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (บก.). 2564. “Anthropocence: บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน”. 
กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. 2564. “How to be human เปิดบทเรียนความเป็นมนุษย์ (ที่ดีกว่าเดิม)”. 

มานุษยวิทยาต้องรอด ใน https://www.the101.world/anthropology-must-survive/.

จักรกริช สังขมณี (บก.). 2559. “พรมแดนของวิธีวิทยา | วิธีวิทยาที่พรมแดน”.
วารสารสังคมวิทยมานุษยวิทยา, 35(1).

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (บก.). 2554. “คนใน: ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย”. 

กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ยุกติ มุกดาวิจิตร และ ชัชชล อัจนากิตติ. 2564. “Posthuman Anthropology: มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์”. 

กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2564. “ทฤษฎีและวิธีวิทยาของการวิจัยวัฒนธรรม”. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ศยามปัญญา.

De la Cadena, Marisol. 2019. “Uncommoning Nature: Stories from the Anthropo-Not-Seen” in Anthropos and the Material. Edited by Penny Harvey, Christian Krohn-Hansen, and Knut G. Nustad. North Carolina: Duke University Press.

Descola, Philippe. 2014. “Beyond Nature and Culture”. Chicago: University of Chicago Press.

Haraway, Donna. 2016. “Staying with the Trouble: Making Kin in the Chthulucene”.
Durham: North Carolina: Duke University Press.

Jansen, Stef. 2021. “The Anthropology of Hope”. In Oxford Research Encyclopedia of Anthropology. Oxford: Oxford University Press. 

Kleist, Nauja & Jansen, Stef. 2016. “Hope over Time—Crisis, Immobility and Future-Making”. History and Anthropology, 27(4). 

Kohn, Eduardo. 2013. “How Forests Think: Toward an Anthropology Beyond the Human”. Berkeley: University of California Press. 

Latour, Bruno. 2021. “After Lockdown: A Metamorphosis”. Cambridge: Polity Press. 

Pandian, Anan. 2019. “A Possible Anthropology: Methods for Uneasy Times”.
North Carolina: Duke University Press.

Tsing, Anna L. 2017. “The Mushroom at the End of the World”.
Princeton: Princeton University Press.

Viveiros de Castro, Eduardo. 2016. “The Relative Native: Essays on Indigenous Conceptual Worlds”. Chicago: HAU Books.