สรุปปาฐกถา 2
ปาฐกถา 2
“Is There a Compass in the Face of Systematic Uncertainties?
Interface of Individual, Local, and Global Scales”
โดย ดร.กาเบรียล ฟากาล (Dr. Gabriel Facal)
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย
ประจำประเทศไทย
(Institut de Recherche sur l’Asie du Sud-Est Contemporaine- IRASEC)
วันที่ 16 มิถุนายน 2566
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล – สรุปและเรียบเรียง
ดร.กาเบรียล ฟากาล (Dr. Gabriel Facal) รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย ประจำประเทศไทย (Institut de Recherche sur l’Asie du Sud-Est Contemporaine- IRASEC) กล่าวในช่วงเริ่มต้นว่าประเด็นหรือธีมเกี่ยวกับความ ไม่แน่นอน หรือ uncertainty นั้น แม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นที่เขาเชี่ยวชาญ แต่ในฐานะนักมานุษวิทยาและนักสังคมศาสตร์ถือว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องเผชิญ รวมถึงปรากฏการณ์ ที่คาดไม่ถึง ความยากลำบากในรูปแบบต่างๆ เช่นที่เขาได้กล่าวว่าในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้นักมานุษยวิทยาเช่นเขาไปลงพื้นที่ภาคสนามไม่ได้ ดังนั้น ความไม่แน่นอนจึงเป็นประเด็นที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับมือ
Certainties: ความไม่แน่นอนที่กลายเป็นความแน่นอน
ดร.ฟากาลได้อ้างอิงข้อเสนอของนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสโรรองต์ ดุซเซต์ (Raurent Dousset) จากหนังสือ Pour une anthropologie de l’incertitude (2018) ที่เสนอถึงการศึกษาความไม่แน่นอนด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ของการครอบครองภาพแสดงแทนฐานขั้นพื้นฐานและหาคุณค่าของสิ่งถักถอทางสังคมที่ก่อเป็นภาพแทนเหล่านั้น (possibility of grasping the most fundamental representation, and the value of social fabric) นักมานุษยวิทยาผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เสนอประเด็นที่เรียกว่า elicitation ซึ่งอาจแปลได้ว่าปฏิกริยาขั้นแรกที่มีต่อปรากฏการณ์หรือสถานการณ์ที่อาจรวมทั้งอารมณ์ ความคิดเห็น หรือข้อเท็จจริงบางอย่าง elicitation จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดภาษาขนาดใหญ่ (meta language) หรือวาทกรรม สำหรับเขาแล้วประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์ความไม่แน่นอนคือการที่ elicitation ก่อให้เกิดปฏิบัติการ (practice) และวาทกรรมขนาดใหญ่ (meta discourse) อย่างไรก็ตาม การหาข้อสรุปหรือฉันทามติร่วมกันนั้นไม่ใช่ประเด็นของการวิเคราะห์ เนื่องจากในปรากฏการณ์ต่างๆ นั้นมีผู้กระทำการที่มากมาย
ดร.ฟากาลเสนอว่าหากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบัน และดูว่ามีความไม่แน่นอนอะไรบ้างที่อาจะเรียกได้ว่าเป็นวาทกรรมหลักที่ผลิตขึ้นโดยสถาบันหรือสื่อมวลชนเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขหรือแม้กระทั่งนำไปสู่ความเสี่ยง ประเด็นแรกคือสภาพความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ (climate change) ที่กลายเป็นความเสี่ยง เรารู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ผลกระทบที่เกิดจากสภาพความเปลี่ยนแปลงของอากาศ หลังจากเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญเสียป่า แม้ว่าเราจะรับรู้ประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังไม่เข้าใจมัน ยังถ่องแท้ หรือปัญหามลภาวะด้านต่างๆ รวมถึงการระบาดใหญ่ของโรคภัยต่างๆ ไม่ว่าเป็นอีโบรา (Ebora) ไข้หวัดใหญ่ จนกระทั่งโควิด-19 นำไปสู่ปัญหาด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร การบริโภค การกระจายความสมบูรณ์หรือความมั่นคงของอาหาร ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมอย่างเห็นได้ชัด
ความไม่เท่าเทียมนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหรือก่อรูปกลายเป็นสงคราม เราจะเห็นภูมิรัฐศาสตร์หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทำให้เห็นความตึงเครียด เช่นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลต่อการใช้และการเข้าถึงทรัพยากรในมิติทางเศรษฐกิจนั้นสำคัญที่เห็นชัด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์การเงินการธนาคารและภาวะฟองสบู่แตก (bubble burst) และหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับวิกฤตการเงินที่ใดที่หนึ่งก็สามารถกระทบไปทั่วโลก ทำให้สถาบันการเงินระดับโลกต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดการพังครืนหรือส่งผลกระทบในวงกว้างตามมา
ความกังวล (anxiety) และสภาวะซึมเศร้า (depression) ที่มาจากความยากจน ความไม่เท่าเทียม และภาวะความเป็นหนี้ จนก่อให้เกิดการทำงานหนักเกินและเกิดภาวะหมดแรงทางกายภาพหรือหมดไฟหรือหมดกำลังใจในการทำงาน (burn out) หรือเกิดปัญหาทางจิตวิทยา โดยเฉพาะสภาพการณ์ที่ถูกโดดเดี่ยวหรือทำให้อยู่คนเดียว (isolation) โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดของโควิด-19 และทำให้เกิดภาวะเสี่ยงหรือสังคมที่มีความเสี่ยงตามข้อเสนอของอุลริค เบ็ค (Ulrich Beck) นักสังคมวิทยาความเสี่ยงชาวเยอรมัน เขาเสนอว่าสาเหตุเชิงระบบ (systemic causes) ที่หลากหลายสถานการณ์เป็นสาเหตุที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่นเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดสภาวการณ์ไร้ตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน หรือในทางเศรษฐกิจหมายถึงการสร้างสภาวะไร้กฎเกณฑ์ทางการตลาด เมื่อผนวกเข้ากับการย่นย่อหรือบีบอัดของสถานที่และเวลา (space-time contraction) นั่นคือการสูญเสียการควบคุมในสิ่งที่เป็นวัตถุหรือที่จับต้องได้ทั้งในระดับปัจเจกและระดับร่วมกันของกลุ่มคนหรือชุมชน สภาวการณ์เช่นนี้เรียกได้ว่า “สังคมความเสี่ยง” (risk society) (Beck, 1992) และแน่นอนสังคมความเสี่ยงตามที่อธิบายมานั้นส่งผลต่อมนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมกัน
- Scenarios: หลากหลายฉากทัศน์จากความแน่/ไม่แน่อน
เราจะพบว่าความไม่แน่อนที่เกิดขึ้นตามที่กล่าวไปข้างต้นนั้นจะส่งผลต่อประสบการณ์การรับรู้ของคนรุ่นต่อมา เช่นการทำลายและลดลงของทรัพยากร โดยเฉพาะการทำเหมืองต่างๆ เช่นเงิน ทองแดง และน้ำมัน ตั้งแต่ช่วงปี 1970 เป็นต้นมา การใช้ทรัพยากรและการบริโภคของมนุษย์ ที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพที่ถดถอย ขณะที่ในหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาประชากรที่ลดลงซึ่งเป็นการคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 จากปัญหาการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระดับประเทศที่แตกต่างกัน ประเทศเช่นสหรัฐฯ หรือยุโรปถือว่ามีรายได้สูงกว่าเป็น 2-3 เท่าเมื่อเทียบในหลายประเทศ เช่นบราซิล ที่มีค่าเฉลี่ยรายได้ของประชากรที่ต่ำกว่ามาก
III. ปฏิกริยาตอบกลับ (Reactions)
ประเด็นสำคัญคือสถานะความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ซึ่งดร.กาเบรียลระบุว่าแม้จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุผลเป็นผลระหว่างสถานะประชาธิปไตยกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน แต่ก็พบว่าประเทศที่มีการปกครองโดยผู้นำเพียงคนเดียวหรือเผด็จการหรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ( oligarchy) นั้นจะได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากร และนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งของคนไม่กี่กลุ่มหรือสถาบันมากกว่า ในหลายประเทศมีแนวโน้มที่ภาคเอกชนสามารถสร้างความมั่งคั่งได้มากขึ้น แต่สวัสดิการสังคมหรือประโยชน์สาธารณะกลับเดินทางสวนทาง
เมื่อพิจารณาการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน พบว่าอาเซียนอาจไม่ถึงเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายได้ภายในปี 2030 อันเนื่องจากแนวทางการพัฒนาที่เน้นให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยของรัฐเดียว และต้องมีฉันทามติ (consensus) ร่วมกันของทั้งภูมิภาค แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข้อวิพากษ์ว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนสร้างแผนการพัฒนาของแต่ละประเทศ โดยที่ไม่ได้สร้างแผนพัฒนาร่วมกัน และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือด้านต่างๆ ตามแนวทางเสรีนิยม แต่การสร้างความเท่าเทียมกลับไม่ได้รับความสำคัญอย่างแท้จริง ขณะที่หน่วยงานที่ทำงานในเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์อย่างองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคประชาชนกลับได้รับการสนับสนุนด้านการเงินน้อยลง และปัญหาที่สำคัญที่ควรได้รับความสำคัญคือสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- แนวทางเพื่อไปสู่ทางเลือก (Methods for alternatives)
ดร.ฟากาลได้นำเสนอแนวทางสำหรับสภาวการณ์ที่เป็นปัญหาระดับโลกข้างต้น
ไว้ 2 แนวทางหลักได้แก่ 1) การสร้างนโยบายที่คำนึงถึงความต้องการหรืออุปสงค์มากกว่าอุปทาน และ 2) ควรให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าทำลาย ซึ่งที่ผ่านข้อเสนอดังกล่าวเป็นการทำงานหรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เป็นกลไกสำคัญในที่ต่างๆ เช่นในไทยมีสมัชชาคนจนที่ขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างอำนาจให้กับกลุ่มคนระดับรากหญ้า หรือองค์กร Oxfam ที่เสนอแนวทางการการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นการสร้างระบบการคมนาคม การศึกษา และการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยหลักการคือต้องการทำให้ความต้องการของคนได้รับความสำคัญมากขึ้น เช่นการสร้างตลาดงาน หรือระบบการศึกษา และการบริโภคในระดับมวลชน (popular consumption) ที่ตอบสนองความต้องการของมวลชนอย่างแท้จริง อีกมิติหนึ่งคือการจ้างงานที่ต้องยกระดับค่าแรง รวมถึงการให้บำเหน็จบำนาญที่เหมาะสมสำหรับคนที่เกษียณอายุแล้ว ตลอดจนวางแผนการสร้างระบบนิเวศ (ecological planning) ดังนั้น จึงควรมีการระดมความเห็นและการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าเป็นการสร้างหรือผลิตอะไรก็ตาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและความเท่าเทียม กระแสเงินหรือรายได้ควรจะลงไปอยู่ที่ตลาดที่จำเป็น ไม่ใช่ตลาดหุ้น นั่นคือการสร้างกลไกที่สัมพันธ์กันระหว่างการผลิต การบริโภค และการวางแผนที่สอดรับกัน และพัฒนาให้เป็นกลไก (mechanism) ให้เกิดทางเลือกเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในวางแผน และนำแผนนั้นไปสู่สถานะที่ได้รับการรับรองในกฎหมาย เช่นให้รัฐสภารับรอง ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องสนับสนุน คือให้มีลักษณะการสร้างและวางแผนในระดับสถาบันที่ชัดเจนและยั่งยืน
ดร.ฟากาลสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและวางแผนในด้านสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เป็นสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตด้านนิเวศร่วมกัน หรือเป็นสร้างโลกอีกใบที่ความเป็นไป (another world is possible) ยึดหลักความปรองดองสมานฉันท์ ความยุติธรรม สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน แนวทางเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์การขาดกฎเกณฑ์ในการใช้ทรัพยากรหรือกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ทะเลหรือมหาสมุทร ดังนั้น การสร้างการมีส่วนร่วมในหลายระดับจึงมีความสำคัญเพราะถือว่าเป็นปรับสเกล (rescaling) ในการให้ความสำคัญ ตั้งแต่ระดับปัจเจก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึก และควรสร้างปฏิสัมพันธ์ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสถาบัน หรือให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการคืนเวลาและพื้นที่สาธารณะให้กับคนหรือปัจเจก
สำหรับข้อเสนอแนะที่มีต่อภูมิภาคอาเซียนนั้น ที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอถึงแนวทางสำหรับการพัฒนาจากระดับปัจเจกหรือท้องถิ่น เช่นการสร้างครัวสาธารณะเพื่อสร้างอธิปไตยทางอาหาร สหกรณ์หรือการรวมกลุ่มของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ รวมไปถึงการประท้วงหรือรวมตัวกันของคนจำนวนมากเพื่อเรียกร้องประเด็นต่างๆ เช่นที่เกิดในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงการรวมตัวของคนไทยและประเทศอื่นๆ ที่เรียกว่าพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่ข้ามพรมแดนรัฐชาติ
- Scientific Initiative: ความคิดริเริ่มจากนักวิชาการ
สำหรับนักสังคมศาสตร์ นอกเหนือจากการทำวิจัย และเผยแพร่แล้วนักสังคมศาสตร์ก็พยายามทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย ที่ผ่านมานักวิชาการเองก็พยายามก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือการสร้างพื้นที่เสรีทางความคิด โดยมีวิธีการที่หลากหลาย ได้แก่ 1) self defense คือการสร้างองค์กรวิจัยที่มีอำนาจอิสระ 2) การสร้างเครือข่ายเพื่อการสนทนาและการแลกเปลี่ยน (networking + cross sectoral dialogue) เพื่อนำไปสู่การทำวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือการสร้างการเคลื่อนไหวจากการมีส่วนร่วม 3) scaling out- up and deep หรือการทำงานที่ขยายพื้นที่และขอบเขตให้กว้างขึ้น และทำงานร่วมกันในเชิงสูงและลึก ทั้งผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มทำงานเคลื่อนไหวในระดับล่าง และองค์กรภาคเอกชนและประชาสังคม 4) cogeneration of knowledge การสร้างความรู้ที่มาจากคนในพื้นที่ในการมีส่วนร่วม เช่น ในประเทศไทยมีงานวิจัยไทยบ้าน (Thai Baan Research) ซึ่งเป็นตัวอย่างแนวทางการสร้างความรู้ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือการทำงานของกลุ่มในฟิลิปปินส์ รวมถึงการทำงานวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR)
นอกจากการทำงานร่วมกันแล้วคือการแลกเปลี่ยนความคิดทัศนคติหรือการสร้าง cosmological ร่วมกัน หรือการสร้างความเข้าใจระดับภาวะวิทยา ความสัมพันธ์ของสปีชีส์หรือหลากสายพันธุ์ (muti-species) โดยที่ไม่ใช่การศึกษาที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งคือการเข้าใจจุดเปลี่ยนหรือหักเหของภาววิทยา (ontological turn) หรือสร้างวิธิคิดแบบการเมืองของจักรวาล (cosmopolitics) ที่รวมถึงสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นมนุษย์ (human) และอมนุษย์ (non-human) หรือสิ่งที่มีชีวิต (living) และไม่มีชีวิต (non-living)
ดร.ฟากาลจบปาฐกถาโดยอ้างคำพูดของนักมานุษยวิทยาแมรี ดักลาส (Merry Douglas) ที่กล่าวว่าความเสี่ยงก็เป็นการประกอบสร้างทางสังคมที่ปัจเจกแต่ละคนก็ประเมินความเสี่ยงหรือการยอมรับและรับรู้ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและ ระบบสังคมในวิถีชีวิตของแต่ละคน (Douglas, 1992) ดังนั้นแล้ว การทำความเข้าใจความ ไม่แน่นอน ความเสี่ยง หรือสภาวการณ์อันตรายต่างๆ อาจไม่เพียงพอ แต่เราต้องแบ่งปัน เพื่อสร้างการรับรู้ ต้องวิเคราะห์เพื่อหายุทธศาสตร์ที่มาจากความหลากหลายทางด้าน ภาววิทยา เพื่อนำไปสู่การกระทำในการสร้างอนาคตที่มีความแน่นอน
ช่วงถามตอบ
หลังจบการปาฐกถา คุณอรนุช เนาวเกต นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้แลกเปลี่ยนประเด็นด้านการเกษตร ในฐานะที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการรวมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ (organic farming) ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างระบบหรือเกษตรที่ยั่งยืน และถามความเห็นดร.ฟากาลว่ามีแนวทางที่มากกว่านี้หรือไม่
ดร.ฟากาลตอบว่าเขาอาจไม่มีคำตอบ แต่มีโอกาสได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่พอจะแลกเปลี่ยนได้ เนื่องจากในช่วงการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกแล้วเกิดความเครียด จึงตัดสินใจไปอบรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เป็นเวลา 1 ปี และพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเข้าใจและเห็นว่าเป็นความยากและท้าทายสำหรับเกษตรกร และเขาได้มีโอกาสพบกับเกษตรกรหลากหลายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางความรู้ และการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ในเวลานั้นทำให้เข้าใจว่าเกษตรกรอินทรีย์ในฝรั่งเศสในที่สุดก็สามารถสร้างเครือข่าย เพราะการสร้างเครือข่ายมีความสำคัญ และเกิดความเข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์ควรได้รับความสำคัญ โดยเกษตรกรฝรั่งเศสได้เข้าไปหารือกับหน่วยงานรัฐในระดับเทศบาลเมือง (municipality) เพื่อขอการสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพที่เกิดจากเกษตรอินทรีย์ เพราะฉะนั้นหน่วยงานด้านสุขภาพก็ควรจะเข้าใจประเด็นเหล่านี้ด้วย เพื่อสร้างการผลิตทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์ หรือความสำคัญของการบริโภคสิ่งดีที่ระดับปัจเจกควรยอมรับ
หลังจากนั้นมีคำถามจากผู้ฟังออนไลน์ว่ามีความเห็นอย่างไร ที่เมื่อต้องการพัฒนาด้านใดหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็สร้างอีกปัญหาหนึ่งขึ้นมา เช่นการพัฒนาทางเศรษฐกิจต้องพึ่งพาทรัพยากร แต่การพัฒนากลับทำลายทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว ดังนั้นควรมี การแก้ปัญหาอย่างไร ดร.ฟากาลกล่าวว่าแน่นอนว่าการผลิตหรือการพัฒนาหนึ่งอย่างทำให้เกิดผลกระทบทั้งในระดับสั้นและระดับยาว ยกตัวอย่างการบริโภคอาหาร หรือการใช้ทรัพยากรหรือพลังงานอย่างยั่งยืน คือต้องใช้การทำความเข้าใจหรือการสร้างความรู้ควบคู่ ไปด้วยเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายทรัพยากรที่มากเกินไป
รายการอ้างอิง (จากองค์ปาฐก)
Beck, U. (1992). Risk society: Towards a new modernity. Sage Publications.
Castella, J. C, et al. (2022). The role of actor networks in enabling agroecological innovation: Lessons from Laos. Sustainability, 4, 3550.
Douglas, M. & Wildavsky A. (1983). Risk and culture. An essay on the selection of technological and environmental dangers. University of California Press.
Douglas, M. (1992). Risk and blame: Essays in cultural theory. Routledge.
Dousset, L. (2018). Pour une anthropologie de l’incertitude. Cnrs Éd.
Hickel, J. (2015, September 23). Five reasons to think twice about the UN’s SustainableDevelopment Goals. London School of Economics Blog. https://blogs.lse.ac.uk/southasia/2015/09/23/five-reasons-to-think-twice-about-the-uns-sustainable-development-goals/
Latour B. (2017). Où atterrir ? Comment s’orienter en politique. La Découverte.
Moore, M.L. et al. (2015). Scaling out, scaling up, scaling deep. Strategies of non-profits inadvancing systemic social innovation. The Journal of Corporate Citizenship, 58, 67-84.
Morgenbesser, L. & Weiss M. (2018). Survive and thrive: Field research in Authoritarian Southeast Asia. Asian Studies Review, 42(3), 385-403.
Morizot B. (2020). Manières d’être vivant. Actes Sud.
Paasche, Ø. & Osterblom, H. (2019). Unsustainable science. One Earth Commentary, 1(1), 39-42.
Ross, R. K., 2014, « We need more scale, not more innovation”, Stanford Social Innovation Review, Spring, 18-19.
Tierney, K. J. (2015). Resilience and the neoliberal project. Discourses, critiques, practices—and Katrina. American Behavioral Scientist, 59, 1327-1342.
Westley, F.R. & Antadze, N. (2010). Making a difference: Strategies for scaling social innovationfor greater impact. The Public Sector Innovation Journal, 15, 2.