เกี่ยวกับงานสัมมนา
“Coexisting with (Un)certainty…สะท้อนย้อนคิดถึงความไม่/แน่นอน” หัวข้อของการจัดงานประชุมวิชาการ “เครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” ครั้งที่ 22 ประจำปีพ.ศ. 2566 โดยมีภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2566 เป็นเวทีสำหรับนิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอความรู้ผ่านกระบวนการตั้งคำถาม คิดโจทย์วิจัย และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนทบทวนและสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์ ให้เกิดการสะท้อนย้อนคิดกับกรอบแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาที่ใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม การจัดงานประชุมวิชาการเครือข่ายนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ จึงกล่าวได้ว่าการจัดประชุมประจำปีของเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษานั้นเป็น “ความแน่นอน” ที่เกิดขึ้นในแวดวงศาสตร์สังคมวิทยาและและมานุษยวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้อง
อีกด้านของความแน่นอนคือ “ความไม่แน่นอน” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจสภาวการณ์ของความไม่แน่นอนของช่วงเวลาที่เราอยู่ที่สัมพันธ์กับการนึกถึงอดีตและวาดหวังถึงอนาคต ตามที่นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ—เอียน สโคนส์ (Ian Scoones) กล่าวไว้ว่า “Uncertainty defines our times” หรือความไม่แน่นอนได้นิยามช่วงเวลาของเราทุกคน ความไม่แน่นอนจึงเป็นสภาวการณ์ที่สัมพันธ์กับมนุษยชาติในหลากหลายมิติ ทั้งจากมุมมองทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และการสร้างปฏิบัติการทั้งในระดับสังคมและปัจเจก (Scoones, 2019)
ความไม่แน่นอนจึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและความต่อเนื่องของการทำความเข้าปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีลักษณะวิภาษวิธีของความแน่นอน/ความไม่แน่นอนในทางสังคมศาสตร์ ซึ่งมีการศึกษาผ่านกรอบมโนทัศน์ที่หลากหลายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือในสังคมร่วมสมัยที่มนุษย์อยู่ในยุคของความไม่แน่นอน (Age of uncertainty) ที่ถูกอธิบายว่าเป็นช่วงเวลาของการปะทะประสานกันระหว่างความแน่นอนของศตวรรษก่อนหน้ากับความไม่แน่นอนในยุคปัจจุบัน (Galbraith, 1977 อ้างถึงในปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2564)
ความไม่แน่นอนที่เราเผชิญอยู่จึงเป็นความต่อเนื่องและความพลิกผันของสิ่งหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ทั้งคาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้ รวมถึงที่ผิดไปหรือนอกเหนือจากสิ่งที่คาดการณ์ อาทิ โรคระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้เข้ามาสร้างความพลิกผันหรือทำลายการเกิดขึ้น/ก่อตัวหรือการดำเนินไปของสิ่งต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับย่อย การเคลื่อนย้ายของผู้คนในระดับข้ามชาติ กลไกลความร่วมมือในทางสังคม ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐและสวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอื่นๆ
การศึกษาความไม่แน่นอนจึงเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับแนวคิดหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในมิติที่หลากหลาย เช่น เสถียรภาพและความไม่ความมั่นคง (insecurity) หายนะและภัยทางธรรมชาติ วิกฤติเศรษฐกิจ อาชญากรรมทางสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงของอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาที่สัมพันธ์กับแนวคิดความเสี่ยง (risk) จากนักวิชาการหลากหลายศาสตร์ (เช่น Douglas & Wildavsky, 1983; Beck, 1992, 2009) และพยายามหาแนวทางที่จะป้องกันหรือแนวทางในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น
ความไม่แน่นอนยังเป็นหัวข้อของการตั้งคำถามถึงสภาวการณ์ดังกล่าวในระดับญาณวิทยา อาทิ ความเสี่ยงมิใช่ความไม่แน่นอน การตั้งคำถามกับความไม่แน่นอน คือนำไปสู่การตระหนักถึงขีดจำกัดของความรู้ (limits of knowledge) ซึ่งอาจหมายถึงสิ่งที่เรารู้หรือเชื่อ เพียงแต่ไม่แน่ใจ หรืออาจจะหมายถึงสิ่งที่เราไม่รู้เลยก็เป็นได้ ความไม่แน่นอนจึงคือความคลางแคลงใจ ความสงสัยในความจริง (truth)
ในอีกแง่หนึ่งความไม่แน่นอนทำให้เราตั้งคำถามถึงเหตุปัจจัยของสิ่งหรือสภาวการณ์เหล่านั้น ไปจนถึงผลลัพธ์ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผลลัพธ์ทางบวกและผลลัพธ์ทางลบ (Wakeham, 2015) และหาวิธีการป้องกันและควบคุมความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นภาวะสมัยใหม่ (modernity) ที่วิทยาศาสตร์นำเราไปสู่ความก้าวหน้าที่มีเหตุผลรองรับ ซึ่งย้อนแย้งกับปัจจุบันที่ความเร่งเร็วของความเปลี่ยนแปลงในด้านการผลิตผ่านเครื่องมือ แรงงาน และเทคโนโลยี ทำให้สิ่งต่างๆ เชื่อมต่อถึงกัน และเมื่อเกิดความพลิกผัน ความเชื่อมต่อหรือความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็แทบจะพังทลายลงในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2564)
ในทางญาณวิทยาที่เชื่อมต่อกับวิธีวิทยา ความไม่แน่นอนสามารถทำความเข้าใจและศึกษาทั้งในเชิงวัตถุวิสัยและอัตวิสัย ในเชิงวัตถุวิสัยนั้น ความไม่แน่นอนถูกรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อบางสิ่งบางอย่างที่สามารถรู้ได้นั้นสามารถวัดออกเป็นค่าและแสดงระดับ (degree) สิ่งใดก็ตามที่มีแนวโน้มว่าจะถูกรู้จะยังคงเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้ (อย่างแน่ชัด) และนั่นเปิดโอกาสให้เกิดการวิจัยหรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในเชิงอัตวิสัย ความไม่แน่นอนมิใช่เรื่องที่สามารถวัดได้ด้วยค่าหรือมาตรวัด หากขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ปัจเจกบุคคลพบเจอและรับมือด้วยความรู้เท่าที่พวกเขามีอยู่ ซึ่งการมีประสบการณ์ในความไม่แน่นอนนี้มักนำมาซึ่งการท้าทายและสั่นคลอนต่อความเชื่อของปัจเจกบุคคล (Tannert, Elvers & Jandrig, as cited in Wakeham, 2015, pp.716-717)
การประชุมวิชาการ “เครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” ครั้งที่ 22 ประจำปีพ.ศ. 2566 ในหัวข้อ “Coexisting with (Un)certainty…สะท้อนย้อนคิดต่อความไม่/แน่นอน” จึงเปิดเวทีสำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการในหัวข้อดังกล่าวพร้อมด้วยธีมย่อยที่สัมพันธ์หรือปะทะประสานกันในการทำความเข้าใจความไม่แน่นอนในหลายมิติ และในหลากระดับของการอธิบายกรอบแนวคิด ตลอดจนการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- การระบาดใหญ่ (pandemic)/ การทำลายล้าง (decimation)/ ความเปราะบาง ( vulnerabilities)
- ภัยพิบัติ (disaster)/ ความเสี่ยง (risk)/ ความยืดหยุ่น (resilience)/ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
- ความไม่มั่นคง (insecurity)/ ความไม่เท่าเทียม (inequality)/ การขาดแคลนทรัพยการ (resource shortage)
- การเร่งรัดทางสังคม (social acceleration)/ ความเร่ง (rapidity)/ เศรษฐกิจไฮเปอร์ (hyper-economy)
- สงคราม (war)/ ความขัดแย้ง (conflict)/ ความตึงเครียด (tension)/ ความรุนแรง (violence)
- ชายแดน (border)/ การอพยพย้ายถิ่น (migration)/ การเคลื่อนย้าย (mobility)
- การเฝ้าระวัง (surveillance)/ การควบคุม (control)/ ความมั่นคง (security)
- ความพลิกผัน (disruption)/ ทางแยก (juncture)/ ทางสองแพร่ง (dilemma) ในยุคดิจิทัล
- เรื่องเล่า (narrative)/ ความทรงจำ (memory)/ ความไม่คงทนถาวร (impermanence)/ ความไม่ต่อเนื่องในทางประวัติศาสตร์ (discontinuity in history)
- การเมืองของความหวัง (politics of hope)/ ความปรารถนา (desire)/ การดูแล (care)
- ความวิตกกังวล (anxiety)/ การสิ้นหวัง/ซึมเศร้า (depression)/ ความกลัว (fear)/ ความชอกช้ำทางใจ (trauma)
- ความศักดิ์สิทธิ์ (sacrality)/ จิตวิญญาณ (spirituality)/ ความตาย (death)
- การปะทะกันของคนระหว่างรุ่น (generation crash)/ สังคมสูงวัย (aging society)/ รูปแบบครอบครัวร่วมสมัย (contemporary family patterns)
- อำนาจละมุน (soft power)/การเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)/ การต่อรอง (negotiation)
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อเป็นเวทีให้นำเสนอผลงานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการในรูปแบบบทความ
- เพื่อพัฒนาองค์ความรู้โดยเฉพาะทางสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในประเทศไทย