Skip to content

SocAntNet

294030775 1104348600463850 2749599798090794455 N

สรุปประเด็นเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ "โลกพ้นอคติ : อุดมคติและวิธีวิทยาของการอยู่ร่วมกัน"

           อาจารย์ ดร. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินรายการได้เปิดวงสนทนา เพื่อชวนคิดถึงประเด็นเรื่องอคติ ประเด็นที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ซึ่งประเด็นเรื่องอคติ ถูกตีความได้หลากหลายรูปแบบ โดยเป็นการตั้งคำถามแก่อาจารย์แต่ละท่าน ที่มาร่วมเสวนาวันนี้ ประกอบด้วย 4 ท่าน ประกอบด้วย 1. ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 2. รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. ผศ.ดร.ประเสริฐ แรงกล้า คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาที่ต้องลงพื้นที่วิจัยภาคสนาม ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ละท่านได้เห็นอคติในรูปแบบไหนบ้าง

โดยการพูดคุยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงดังนี้

 

ช่วงที่หนึ่ง : การพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์การลงภาคสนามหรือแนวคิดการตีความที่เกี่ยวข้องกับอคติ ที่อาจารย์แต่ละท่านได้เจอมา ทั้งในงานวิจัยหรืองานภาคสนาม ว่าอาจารย์แต่ละท่านมีมุมมองหรือมองเห็นเรื่องดังกล่าวอย่างไรบ้างในมุมมองของนักมานุษยวิทยา อคติถูกมองเห็นและถูกเข้าใจแบบไหน แล้วการลงวิจัยภาคสนามในแต่ละครั้ง ช่วยให้เราเข้าใจประเด็นเรื่องอคติอย่างไรบ้าง

               สำหรับประเด็นดังกล่าว ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้ให้ความคิดเห็นว่า หัวข้อวันนี้ทำให้นึกทบทวนไปถึงสมัยที่ตนทำงานภาคสนามชิ้นแรก ๆ ว่าประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนอะไรบ้าง โดยอาชีพของตน คือทำงานอยู่แวดวงการแพทย์ อย่างนั้นแล้วเวลานับอะไรว่าเป็นความจริงต้องนับได้ คือมันต้องเห็นมองส่องผ่านกล้อง ต้องนับจำนวนออกมาได้ เวลาเราไปเรียนด้านมานุษยวิทยา ความจริงของเราไม่ได้ผ่านตัวเลข มันเป็นความจริงที่ผ่านเรื่องเล่า โลกของความจริงถูกประกอบขึ้นมาจากเรื่อง ดังนั้นเวลาที่เราสื่อสารเรื่องเหล่านี้ ผ่านด้านสาธารณสุขทางการแพทย์ มันก็จะมีความไม่ลงรอยกันทางความคิด ซึ่งความไม่ลงรอยกันมันเป็นเรื่องปกติ แต่มันก็เป็นความไม่ลงรอยที่อยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน แม้แต่การที่ตนมาเรียนสายมานุษยวิทยา ก็ถูกตั้งคำถามจากคนในกระทรวงสาธารณสุขว่าไปเรียนทำไม เป็นวิชาอะไร มันไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มาใช้งานได้อย่างไร ตนจึงคิดว่าอคติที่มีต่อศาสตร์ก็ค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องที่เด่นชัดเหมือนกัน ในแง่ที่ว่าแต่ละศาสตร์ก็อยู่บนพื้นฐานการนับความจริงที่ไม่เหมือนกัน

               พอมองย้อนกลับไปในการทำงานภาคสนามยุคแรก ๆ เราก็จะเห็นอคติของเราชัดขึ้น ซึ่งในตอนนั้นที่ไปทำวิจัยคนเลี้ยงช้างที่จังหวัดสุรินทร์ และแม้ว่าจังหวัดสุรินทร์จะเป็นบ้านเกิดของตน เรารู้ว่าจังหวัดมีงานแสดงช้างซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของจังหวัด แต่ว่าไม่รู้จักคนที่เขาเป็นคนเลี้ยงช้างเลย เรารู้ว่าจังหวัดสุรินทร์ มีชาวเขมร ชาวกวยที่เป็นคนเลี้ยงช้างแต่เราไม่รู้จักเขาเลย อย่างเราไปอยู่ในชุมชนเลี้ยงช้างในสมัยก่อน งานเชิงมานุษยวิทยาเรื่องที่เราไปศึกษาก็มองเป็นเรื่องวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นเจ้าของ กล่าวง่าย ๆ คือ มนุษย์เป็นคนสร้างสื่อภาษา สัญลักษณ์ พิธีกรรมอะไรต่าง ๆ ขึ้น เราก็ไปศึกษาเรื่องนั้น แต่เมื่อมองย้อนกลับมา มีการเริ่มตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ววัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น มันแยกขาดออกจากสัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อม โลก และพืชเลยได้จริงหรือไม่? เราสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาล่องลอยในอากาศโดยไม่สัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นได้เลยจริงหรือเปล่า? พอย้อนกลับไปดูก็ปรากฎว่า เราละเลยสิ่งเหล่านี้ไปอย่างสิ้นเชิง เราไม่สนใจช้างเลย เรามีความรู้สึกว่าก็เราเป็นนักมานุษยวิทยาเราต้องศึกษาคนใช่ไหม แต่เมื่อมองย้อนกลับไปเราไม่รู้จักช้างเลย เราไม่สามารถแม้แต่ที่จะสร้างความไว้วางใจแก่ช้างได้ เรากลัวช้างตลอดเวลา เราได้ยินข่าวว่าช้างเหยียบคนตาย ช้างตกมันทำร้ายคน แต่จริง ๆ แล้วชาวบ้านเขาสร้างความสัมพันธ์กับช้างได้ สร้างความไว้ใจกันได้ เราไปทำวิจัยภาคสนาม เราบอกว่าเราต้องสร้างความไว้วางใจ (truth) แก่คนที่เราไปวิจัยได้ เราก็สร้างเหมือนกันแต่เราสร้างกับชาวบ้าน แต่โลกของชาวบ้านก็มีสิ่งอื่นด้วย เวลาทำงานภาคสนามมักจะมีความเข้มข้น เพราะเราไปรู้จักเขาละเอียดมากขึ้น พอเราได้เข้าไปคลุกคลีเห็นบริบทของท้องถิ่นมากขึ้น

            โลกของการทำงานภาคสนาม ก็จะได้เห็นการต่อสู้ระหว่าง ชุดความเข้าใจที่เกิดขึ้นกับอคติที่มีอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราเสร็จจากงานภาคสนามขึ้นมาแล้วมานั่งเขียน จริง ๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นความพยายามที่จะรื้ออคติที่เรามีอยู่ไม่น้อย บางครั้งตัวเองก็นึกไม่ออก ก็ต้องอาศัยกลุ่มเพื่อน มีการนำเอางานวิจัยไปพูดคุยกันในกลุ่ม ด้วยเหตุนี้ก็เลยมีความจำเป็นที่เราต้องมีชุมชนวิชาการ เพื่อช่วยกันเช็คว่าเรื่องนี้ เรามองรอบด้านหรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ

            รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อคำถามดังกล่าวไว้ว่า ตนทำงานภาคสนามเริ่มครั้งแรกเมื่อ 30 ปีมาแล้ว และถึงจะผ่านมา 30 ปีแล้ว แต่ความทรงจำก็ยังคงอยู่ตลอด เพรามีความประทับใจแล้วก็รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่พิเศษหนึ่งในชีวิต จากคำถามข้างต้นจะแบ่งการเล่าออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จะเกริ่นนำเกี่ยวกับอคติ และในส่วนที่ 2 จะอธิบายความถึงการที่ได้ไปเจอและศึกษาเกี่ยวกับชุมชนชาวเล ว่าเห็นประเด็นอคติอะไรบ้าง

            โดยเริ่มจากที่เห็นประเด็นของงานสัมมนาในครั้งนี้ ว่าวิธีวิทยาของการประกอบสร้างเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเรามักจะคิดว่าอคติมีอยู่แล้วและก็จะยังคงมีต่อไป แต่ว่าอคติมันคือการค่อย ๆ สั่งสม มีการก่อตัวก่อรูป เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะจัดการกับอคติ บางครั้งเราก็อาจจะต้องไปดูว่ามันเริ่มจากตรงไหน ตรงไหนที่เริ่มจะไม่ดีแล้ว ตรงไหนที่เริ่มจะเป็นอคติ เพราะว่าเราก็มีมุมมองเหมือนกัน แต่ว่ามุมมองนี้จะกลายเป็นอคติเมื่อไหร่ จากคำถามเรื่องอคติ ก็ทำให้มองนึกถึงคำว่า คนใน คนนอก อาจจะยังไม่เป็นอคติเท่าไหร่ เป็นแค่เส้นบาง ๆ ที่ทำให้พอรู้ว่า เขาเป็นใคร เราเป็นใคร เมื่อเวลาที่เราเข้าไปในพื้นที่สนามใหม่ ๆ เขาก็จะเรียกเราเสมอว่า แชม นั่นหมายถึงคนไทย และเมื่อเวลาที่เขาขู่เด็กเวลาเด็กร้องไห้ เขาจะบอกว่าแชม เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่ามีเส้นบาง ๆ ที่แบ่งไว้ แต่พอเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่สักระยะเวลาหนึ่งสักสองถึงสามเดือน เมื่อเราเริ่มพูดภาษาเขา เราก็จะถูกนับรวมเข้าไป เริ่มเป็นคนหนึ่งในชุมชน เราก็จะเริ่มสบายใจขึ้น เขาก็สบายใจขึ้นที่จะพูดคุยกับเรา คนเฒ่าคนแก่ที่เขาไม่ได้พูดภาษาไทย ก็มีความพยายามที่จะพูดคุยกับเรา จึงคิดว่ามันมีเส้นบาง ๆ แต่ว่า อคติ จะเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ผูกโยงความคิดความเชื่อ หรือคุณค่าในอะไรบางอย่างเข้ากับมุมมองของเรา เราค่อย ๆ สั่งสมไป โดยเฉพาะที่เป็นด้านลบหรือด้านบวก ก็จะเป็นอคติ อย่างเช่นในพระพุทธศาสนา ก็จะเป็น ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติและภยาคติ ซึ่งก็จะลึกไปอีก จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะมองถึงเรื่องอคติ การแบ่งแยกและการสั่งสม ซึ่งนักมานุษยวิทยาทุกคนก็อาจจะต้องเรียนสำนักนี้ สำนัก culture and personality เป็นสำนักที่มองว่าวัฒนธรรมบ่งเพาะหรือสะสมบุคลิกบางอย่าง อันนี้ก็เป็นแค่ความพยายามที่จะเข้าใจคนในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่ว่าถ้าเรามองเหมารวมเลยว่าคนในสังคมนั้นเป็นเช่นนั้นทั้งหมด ก็เริ่มจะเป็นอคติแล้ว หรือถ้ามีคุณค่าอะไรบางอย่างที่ใส่ลงไปที่เป็นทางลบ ก็น่าจะเป็นอคติแล้วเช่นกัน

            ส่วนที่สอง อคติเกี่ยวกับชาวเลที่มีอยู่มากมาย แม้แต่คำว่าชาวเล ก็เป็นคำที่สั่งสมจนกระทั่งตัวชาวเลเอง ไม่ได้อยากเป็นชาวเลแล้ว ก็เกิดคำว่าไทยใหม่ ซึ่งเป็นคำที่ให้คุณค่าเขา ว่าเขาเป็นคนไทยแล้วถูกนับรวมเข้ามาในคนไทย แต่แท้จริงแล้วในคำนั้นก็มีอคติแฝงฝังอยู่ในคำว่าไทยใหม่ เพราะว่าเรามองว่าไทยเรามีความเด่นกว่าสูงกว่า เพราะฉะนั้นจริง ๆ การมองถึงเรื่องอคติก็เป็นมุมที่อ่อนไหวและจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดอ่อน อีกเรื่องหนึ่งที่ทำงานกับชาวเลมาแล้วมองว่าเป็นปัญหาที่สุด คือเรื่องการเคลื่อนย้าย migration mobility ชาวเลก็เหมือนกับกลุ่มเร่ร่อนทั่วโลกที่ประสบปัญหาอคติโดยเฉพาะจากรัฐ ว่ากลุ่มนี้ไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีหัวนอนปลายเท้า เข้ามาสู่ความเป็นรัฐชาติยาก จะส่งการพัฒนาไปให้เด็กเข้าเรียนก็เป็นเรื่องยาก สิ่งเหล่านี้ทำให้มุมมองของเราต่อเขาหรือโครงสร้างความคิด คือจะจับเขาให้มาเหมือนเรา สิ่งเหล่านี้คือต้นตอของปัญหาใหญ่เลยเกี่ยวกับชาวเล

             ผศ.ดร.ประเสริฐ แรงกล้า ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อคำถามดังกล่าวไว้ว่าจากหัวข้อประเด็นเรื่องอคติ ทำให้ตนได้นั่งคิดว่าอคติในที่นี้หมายถึงอะไร นั่งทบทวนไปถึงในช่วงที่ตนเป็นนักศึกษาเวลาที่เรียนวิชาทฤษฎี เรามักจะถูกสอนเรื่องจุดกำเนิดของวิชานี้ ที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยในเชิงวิวัฒนาการทางสังคม ที่เชื่อว่ามนุษย์มีลำดับขั้นของการวิวัฒนาการ และเชื่อว่าหนึ่งคำที่นักศึกษาทางมานุษยวิทยารู้จัก คือ เราต้องระวังเรื่องการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (ethnocentrism) ซึ่งตนเองคิดว่าอคติหนึ่งสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจมากก็คือ การเชื่อว่าวิชานี้ เราต้องทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะบางทีเราก็เชื่อว่าวัฒนธรรม ประเพณีหรือสิ่งที่เราทำอยู่ดีกว่า หรือเจริญกว่าคนอื่น สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่นักมานุษยวิทยามักจะตักเตือนกันถึงเรื่องที่ควรระมัดระวังไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วหากมาย้อนดูในสนามศึกษาของตนว่าสมัยที่เราทำงานสนามที่ชายแดนไทยพม่า รวมถึงงานอื่นในปัจจุบันเราจะพูดงานนี้อย่างไร ดังนั้นจึงจะขอหยิบยกแง่มุมเล็ก ๆ หนึ่งมุมที่เป็นเรื่องอคติที่เราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางที่จะผลิตความรู้หรือความจริงบางอย่าง ซึ่งเป็นอคติว่าด้วยการบอกว่าความจริงคืออะไร โดยในปัจจุบันในภาพกว้างที่มีการเคลื่อนไหวที่เชื่อว่าความรู้หรือความจริงบางอย่างที่อยู่ในโลกใบนี้ เป็นเรื่องที่โกหกหรือเป็นเรื่องที่ลวงกัน มันมีทฤษฎีสมคบคิดอยู่ที่ทำให้เราคิดแบบนี้

โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด 19 คิดว่าเป็นเรื่องที่ชัดมาก เราได้เห็นกระแสของการไม่เชื่อเรื่องโควิด 19 ไม่เชื่อเรื่องวัคซีน อย่างในอเมริกามีคำล้อเล่นว่า การระบาดครั้งนี้คือความจงใจที่จะเผยแพร่บางอย่าง ซึ่งในทางการแพทย์เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มีกระบวนการว่าโรคระบาดครั้งนี้ มีเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดอะไรบางอย่าง ซึ่งตนคิดว่ามันก็เป็นอคติแบบหนึ่งและก็มีปรากฎการณ์อีกหลายอย่างที่กำลังตกอยู่ในวังวนนี้ โดยตนคิดว่าอคติของการสร้างความรู้แบบนี้ก็มีอันตรายบางอย่างในตัวมันเอง ตัวอย่างที่อยากยกจากสนามที่ตนเองเจอที่แม่สอด คิดว่าสมัยที่ทำงานภาคสนามมีคำซุบซิบ (gossip) มากมายที่พูดถึงมุสลิมพม่าแบบแย่ ๆ แล้วตนก็คิดว่าเหมือนมันเพลาลงไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังคงเป็นมากอยู่ อย่างบนโซเซียลมีเดีย ก็จะมีการพูดโดยกลุ่มองค์กรปกป้องพุทธศาสนาที่ออกมาพูดว่า ทำไมไทยถึงได้มีมุสลิมต่างด้าวเยอะไปหมด แล้วก็มีการแอบทำบัตรประชาชน 10 ปี ให้กลุ่มคนเหล่านี้ด้วยโดยข้าราชการ คนไทยที่เป็นคนพุทธ ที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะมีประเทศไทยไหมในอนาคต ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องอคติที่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าก็เป็นอคติที่ทำให้คนกลัวมุสลิม ทั้งที่จริง ๆ แล้วมุสลิมในแม่สอดมีหลายรุ่น หลากหลายกลุ่ม แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีอคติกับผู้คนแล้วก็รู้สึกเกลียดกลัวคนบางกลุ่มเฉพาะไป

ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อคำถามดังกล่าวไว้ว่า สิ่งที่กำลังจะกล่าวก็อาจจะมีบางประเด็นที่เชื่อมโยงกับประเด็นการศึกษาของ ผศ.ดร.ประเสริฐ แรงกล้า ในประเด็นเรื่องพุทธสุดโต่งด้วย ที่กระทบต่อมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกัน โดยประเด็นเรื่องอคติที่จะพูดวันนี้มี 2 ส่วนคือ ประเด็นมานุษยวิทยากับอคติมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และเรื่องในภาคสนามว่าเป็นอย่างไร

เริ่มจากการพูดถึงประเด็นเรื่องอคติ ซึ่งเป็นเนื้อหาพื้นฐานที่สุด อย่างที่ตัวเองได้สอนนิสิตปี 1 ที่จะต้องเข้ามาเรียนในภาคการศึกษาแรกในทุก ๆ เทอม ในวิชามานุษยวิทยาเบื้องต้น เรื่องอคติก็จะเป็นเรื่องที่เราพูดถึงเป็นสิ่งแรก ๆ เลย ก่อนที่เราจะพูดว่ามานุษยวิทยาว่าคืออะไรหรือวัฒนธรรมคืออะไร ซึ่งเรื่องอคติถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราต้องพูดคุยกับนิสิตที่เรียนว่า อคติที่มนุษย์มีต่อกันส่งผลเสียอย่างไร นำไปสู่การกดขี่ย้อนไปถึงยุคอนานิคมหรืออะไรก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นเนื้อหาพื้นฐาน แล้วในการสอนก็จะมีแนวคิดเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของมานุษยวิทยาและเป็นเป้าหมายของรายวิชาด้วย ที่ต้องลดอคติเชิงชาติพันธุ์ด้วย เป็นเหมือนอุดมคติของวิชามานุษยวิทยาซึ่งก็จะโยงกับวิธีวิจัยด้วย ว่าวิธีการวิทยาที่อาจารย์หลาย ๆ ท่านไปอยู่กับผู้คน การเข้าไปใกล้เขาที่สุดนั้น อาจจะอยู่เหมือนเป็นคนใน เพื่อที่จะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร เขาทำแบบนั้นทำไม ทำไมเขาตัดสินใจแบบนั้นด้วยเหตุผลอะไร บริบทเงื่อนไขอะไรบนมุมมองของเขาเอง ซึ่งก็มีการคาดหวังว่าวิธีการแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์วรรณาแบบเดิมหรือแบบใหม่ในโลกสมัยใหม่ที่ศึกษาในโลกออนไลน์ เราก็จะเอาตัวเราเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจจะช่วยลดความอคติลงได้ ในโลกแห่งความเป็นจริงอคติก็มีความซับซ้อนมากกว่านี้ ไม่ได้เป็นเรื่องความรู้สึกที่คนกลุ่มหนึ่งมีต่อคนกลุ่มหนึ่ง หรือที่เรามีต่อคนอื่น หรือเรามีต่อตนเองว่าดีกว่าคนอื่น แต่มันเป็นเรื่องที่โยงกับโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมทางการเมืองด้วย ถ้าเราพูดถึงอคติโดยไม่โยงถึงโครงสร้างหรืออะไรต่าง ๆ ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ หรือสร้างสังคมพ้นอคติได้ตามหัวข้อของวันนี้ได้

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิจัยภาคสนาม โดยตนได้ลงไปศึกษาและทำวิจัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ่อย ๆ เหตุผลส่วนหนึ่งที่เชื่อว่านักมานุษยวิทยาเลือกลงไปทำวิจัยกับคนกลุ่มไหน ก็น่าจะมาจากแรงบันดาลใจว่าคนกลุ่มนั้นถูกกดทับด้วยอคติบางอย่าง แล้วก็มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นหรือมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวมลายู มุสลิม ก็มีปัญหามาอย่างยาวนานซึ่งหลายคนก็อาจจะรู้เรื่องนี้ ก็คือเรื่องอคติที่รัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามบ้าง มองว่าแตกต่างจากคนไทย ภัยความมั่นคง ซึ่งถ้าไม่ถูกมองแบบนี้ก็จะถูกมองอีกแบบว่า ด้อยพัฒนา พูดไทยไม่ได้ ไม่มีการศึกษา ล้าหลัง ยากจน มองว่าสภาพเช่นนี้เอื้อต่อการถูกชักจูงให้ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐไทยเอาไปเป็นพวก สิ่งเหล่านี้เป็นอคติที่มีมาอย่างยาวนานและมีมาถึงทุกวันนี้ แล้วอคติก็กลายเป็นฐานในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ และมาตรการทั้งหลายของรัฐที่จะลงไปในพื้นที่ อย่างไรก็ดีความเข้าใจในเรื่องอคติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างที่ได้อธิบายไป ก็เริ่มมีการตระหนักและถูกพูดถึงมากขึ้น ว่ารัฐมีอคติ รัฐไทยมีอคติต่อมลายูอย่างไร ทหารมีอคติต่อคนมลายูอย่างไรกันมากขึ้น ในสภาก็ได้ยินสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ถึงอคติเรื่องปัญหาการถูกกดทับจากนโยบายที่เป็นผลมาจากอคติต่าง ๆ  หมายถึงการถูกเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในนโยบายของพรรคการเมือง ในกรรมาธิการหรือในกระบวนการสภา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกรับรู้อยู่ แต่ประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือว่า ความเข้าใจในประเด็นเรื่องอคติตรงนี้เพียงพอหรือยัง หมายถึงเราเข้าใจมากขึ้นว่าคนมลายูถูกกดทับอย่างไรจากอคติ แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ความเป็นจริงของโลกมลายูใหญ่มากและซับซ้อนมาก ชาวมลายูมุสลิมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ก็จริง แต่เป็นกลุ่มที่มีหลายล้านคนและทั้งข้างในกลุ่มเองก็มีความซับซ้อน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา ก็มีหลายสายหลายหลายกลุ่มชนชั้นนำ มีคนจน คนรวยและก็โลกทางการเมือง เพราะการเมืองอยู่ในชีวิตประจำวันของเขามากในทุกระดับ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กันและซับซ้อนไปหมดเลย ซึ่งความซับซ้อนตรงนี้ต้องคิดถึงโจทย์ว่าประเด็นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับอคติที่เรามีอยู่เกี่ยวกับสังคมมลายูมุสลิม ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอแล้วอาจจะต้องคิดถึงโจทย์ใหม่ ๆ รวมถึงอีกประเด็นหนึ่งที่จะทิ้งท้ายไว้คือเรื่องการโต้กลับของคนที่ถูกกดทับด้วยอคติ อคติจากข้างนอกบางครั้งก็อาจจะไปสร้างพลังข้างใน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดีหรือมีผลกระทบก็ได้ เช่น อคติข้างนอกก็อาจจะทำให้กระแสชาตินิยมมลายูเพิ่มขึ้นแรงขึ้นหรือเปล่า หรือกระแสจากข้างนอกอย่างพุทธสุดโต่ง ก็อาจไปสร้างกระแสมลายูมุสลิมหรือการชูอัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่ในเชิงการตอบโต้ขึ้นมาด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นประเด็นที่เราต้องดูกันต่อไป

           

287938951 786781415825519 32119194510228278 N

ช่วงที่สอง : ของการเสวนา อาจารย์ ดร. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์  ผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งคำถามแก่ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านในประเด็นอคติในสังคมสมัยใหม่ ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นเรื่องอคติที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม อคติมีการเปลี่ยนรูปหรือเปลี่ยนหน้าตาไปแบบไหนแล้วจะมีวิธีวิทยาใดบ้างที่จะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจ รับรู้และคิดไปด้วยได้

 

                   ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อคำถามดังกล่าวไว้ว่า หลังจากได้ฟังอาจารย์หลายท่านในที่นี้พูด ทำให้เห็นถึงว่ามีอะไรบางอย่างที่เป็นพื้นฐานอยู่ คือมนุษย์เพื่อที่อยากให้ชีวิตทางสังคมดำเนินไปได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการจัดประเภท                 (cultural classification) คือการจัดกลุ่มจัดประเภทขึ้นมาว่าอันนี้เป็นพวกเดียวกัน โดยการแบ่งกลุ่มหรือแบ่งหมวดหมู่ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดถ้าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะถ้าเมื่อเราจะไปมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ เราต้องเข้าใจก่อนว่าอันนี้เป็นหมวดหมู่ไหน ซึ่งพอมีขึ้นมาคุณลักษณะที่เราจะเรียกขึ้นมาเป็นหมวดหมู่ได้ก็ต้องมีความต่างจากอันอื่นเป็นเรื่องธรรมดา ในแง่หนึ่งในด้านปฏิบัติการของอคติมันก็เป็นการสร้างอยู่แล้วอย่างเบ็ดเสร็จในตัววิธีการมองโลกของมนุษย์ คือเราแยกคนเป็นหมวดหมู่ แยกของเป็นหมวดหมู่ ที่เราแยกได้ก็เพราะว่ามันต่าง แล้วนำมาบวกกับการให้คุณค่า ความต่างแบบนี้มันดี ในแบบนี้ไม่ดี ก็เริ่มจะมีการจัดช่วงชั้นแล้วว่าอันนี้มันดี อันนี้มันแย่ ซึ่งความแย่นี้เอง สามารถนิยามได้หลากหลายมาก เช่น แย่เพราะว่าไม่มีที่ดี มีวิธีคิดที่แตกต่างจากพวกเรา หรือแย่เพราะว่าศาสนาไม่เหมือนกัน โดยบางครั้งในกลุ่มเองก็มีความต่างที่หลากหลายแต่เราก็เหมารวมว่าเป็นกลุ่มหนึ่ง หรือแย่เพราะว่าเขาเป็นโควิด 19 หรือเขาเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรคอย่างชาวแรงงานพม่าที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งการให้คุณค่าอาจจะมีหลายมิติมาก

               หากพูดในแง่ประวัติศาสตร์ของนักมานุษยวิทยาเราจะพูดถึงเรื่องการวิจัยไปเลยว่า แม้แต่ภาษาในสมัยอาณานิคมดัตช์เข้าไปในอินโดนีเซียไปเปิดโรงเรียนแพทย์ แต่เขาไม่ยอมสอนเป็นภาษาท้องถิ่น ไม่สอนเป็นภาษาอินโด โดยสาเหตุเขาได้กล่าวว่า เพราะภาษาเหล่านี้เป็นภาษาที่ไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่เป็นกลางได้ เป็นภาษาที่เต็มไปด้วยความงมงาย เป็นภาษาของไสยศาสตร์ ซึ่งกลายเป็นว่าวิธีการจัดหมวดหมู่ว่ามันด้อยมันแย่ มันไม่ดี ซึ่งมีหลากหลายมากไปโดยปริยาย พอแบ่งหมวดหมู่ก็มีเรื่องคุณค่าพวกนี้มาประกอบ เพราะคุณค่าพวกนี้มันง่ายที่จะฉีกตัวเองออกมา เพราะเป็นความต่างและบวกความเป็นอื่นเข้าไป

               ตนมองว่ากระบวนการเหล่านี้ทำงานเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นบนโซเซียลมีเดีย อย่าง AI (Artificial Intelligence) ก็เริ่มจากการจัดหมวดหมู่คนก่อน เขาจัดหมวดหมู่ของคุณว่าคุณดูของแบบนี้ คุณตอบแบบนี้ คุณเข้าไปค้นหาคำแบบนี้ ก็ถูกจัดหมวดหมู่ไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกให้ AI จัดรูปแบบ ซึ่งก็เริ่มจากการที่มนุษย์ใส่ข้อมูลเข้าไป แล้วก็ไปสอนให้เครื่องจักรเรียนรู้อคติไปจากเรา และเมื่อ AI ประสิทธิภาพสูงอคติก็ยิ่งมากกว่า เพราะมันสามารถจำแนกแยกแยะได้เร็วและอาจจะเร็วกว่ามนุษย์ จากการเห็นความต่างเพียงเล็กน้อยก็เห็นแล้วว่านี่เป็นอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่เหมือนกัน เพราะหากเรากำลังพูดถึงเรื่องอคติในโลกสมัยใหม่ มันก็จะมีความเร็วมีขอบเขตที่กว้าง จากที่กล่าวมาได้เห็นวิธีการจำแนกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ยังเห็นถึงอคติที่มนุษย์ส่งต่อให้กับเครื่องจักรให้คิดแทน

               ผศ.ดร.ประเสริฐ แรงกล้า ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อคำถามดังกล่าวไว้ว่า เมื่อช่วงต้นได้กล่าวถึงอคติของกลุ่มอนุรักษ์ โดยจะขอเรียกว่ากลุ่มหัวขวา ซึ่งแท้จริงแล้วความเกลียดชังมุสลิมก็ไม่ได้มีแค่คนไทยพุทธ แม้แต่ในกลุ่มผู้ลี้ภัยพม่าหรือกระเหรี่ยงก็ตาม จะมีทัศนคติที่เกลียดกลัวมุสลิม ตนคิดว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้อาจจะไม่ได้เป็นแค่ระดับชาวบ้าน คืออยู่ในระดับปัญญาชน ซึ่งมีความพยายามที่จะแสดงตัวว่าพวกเขาเท่าทันมุสลิม ว่าฉันรู้นะว่าพวกเธอกำลังจะทำอะไร ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเมืองที่อันตรายเพราะว่า มันคือการเมืองที่จะเถียงกันว่าความจริงคืออะไร

               โดยการมาร่วมพูดคุยในวันนี้ ตนชื่นชอบชื่อห้องนี้มาก เพราะเป็นการชวนคิดวิธีวิทยาแห่งการอยู่ร่วมกัน ตนคิดว่ามุสลิมมีหลายกลุ่มมาก จริง ๆ แล้วมีบางแง่มุมที่เราอาจจะต้องมาคิดว่า เราควรจะออกจากเรื่องที่ว่าใครพูดความจริง (politics of who) มาสู่ว่าเรื่องต่าง ๆ ควรจะถูกจัดการอย่างไร (politics of what) เราจะทำมันอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วมีหลายแง่มุมของความเป็นมุสลิมที่เราคิดว่ามันจะสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ ได้อย่างไร เช่น หากใครไปแม่สอด ก็จะพบความโด่งดังของโรตีโอ่งหรือข้าวซอย ตนคิดว่าอาหารเป็นอมนุษย์ (non-human)  แบบหนึ่งที่ทางมุสลิมมีความโดดเด่นเรื่องนี้มาก คือตนคิดว่าสุดท้าย เมืองชายแดนมีความโกลาหลจริง ๆ แต่ว่าควรถูกจัดการด้วยความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ควรถูกออกแบบอย่างไรมากกว่า มากกว่าการจะสร้างความรู้สึกกลัวต่อประชากรมุสลิม ตนยังนึกถึงว่าอาหารเป็นเรื่องที่โดดเด่นมาก ที่อาจจะต้องนำเข้ามาคิดว่าสิ่งที่มีและดำรงอยู่เช่นนี้จะอยู่รวมกับชายแดนอย่างไร นอกจากความโกลาหนที่เกิดขึ้นในพื้นที่

                ในช่วงหลังที่ผ่านมา มีการพูดถึงวิธีวิทยาที่เราจะมุ่งไปหักล้างว่าอะไรจริงหรือไม่จริง สิ่งที่มีอยู่หรือดำรงอยู่อาจจะเป็นการประกอบรวมกันรวมกันขึ้นด้วยองค์ประกอบหนึ่งจำนวนหนึ่ง ณ ขณะเวลาหนึ่ง จริง ๆ การไปดูความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านั้น หรือที่เรียกว่าในทางทฤษฎีว่าการไปดูสัมพันธ์สภาวะ ที่เป็นจริง ณ ขณะหนึ่งเป็นอย่างไร ตนก็คิดว่าทางเลือกของการมาดูเมืองชายแดนที่มีความโกลาหล แล้วก็มีประชากรมุสลิมที่เยอะจริง ๆ ควรจะเป็นอย่างไร น่าจะก้าวออกมาจากอคติว่าอะไรคือภัยคุกคามแบบน่ากลัวขนาดนั้น ซึ่งแท้จริงแล้วมีความหลากหลายกลุ่มมาก ๆ

                 ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อคำถามดังกล่าวว่า จะกล่าวในประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอคติในสังคมไทยก่อนแล้วจะกล่าวถึงเรื่องวิธีวิทยาที่ตนเองรู้สึกว่าเป็นปัญหาของตนเองที่แก้ไม่ตกด้วย คือปกติในเรื่องเวลาพูดถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดจากอคติ ตอนนี้ก็เหมือนกับว่าจะดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น เหมือนกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ มีแผนงานมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดอคติ เหมือนจะเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับแล้วว่า แต่อย่างไรก็ดีก็ยังมีปัญหาอยู่บางประการจากที่สังเกตเห็น เช่น เราพบว่าสถาบัน องค์กรหรือหน่วยงานที่จริง ๆ แล้วเป็นต้นตอของปัญหาในการสร้างอคติกลับมาทำงานในเรื่องการลดอคติเสียเอง อย่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดี๋ยวนี้ทหาร เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาพูดถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรื่องพหุวัฒนธรรม มีโครงการมีแผนงาน อันนี้มันคืออะไร สิ่งเหล่านี้มันคือสิ่งที่เขาเห็นจริง ๆ หรือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาทางการทหารแบบหนึ่ง หรือบางทีเราก็จะพบว่าจะมีหลาย ๆ หน่วยงาน ที่ต้องการจะทำเรื่องนี้กับคนที่ถูกกดทับด้วยอคติกับคนบางกลุ่มที่มันอาจจะไม่ได้ท้าทายอำนาจเรื่องการเมืองเสียทีเดียว ซึ่งคนกลุ่มนี้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานสถาบันการศึกษาเวลาจะพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหา หรืออย่างเรื่องอคติก็จะไม่แตะ เพราะด้วยข้อจำกัดอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็จะยังไม่แตะคนกลุ่มนี้ ที่ประสบปัญหาจากอคติในสังคมไทย ฝากเป็นประเด็นเพื่อที่จะตอบคำถามว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้า แต่ว่าก็ยังไม่ก้าวหน้าเสียทีเดียว เพราะยังมีการแยกอคติให้เป็นเรื่องในเชิงบวก เป็นเรื่องเชิงสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่ถ้าไม่พูดถึงโครงสร้างทั้งหมดทั้งในทางสังคมและการเมือง

                  รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อคำถามดังกล่าวไว้ว่า ตนได้เห็นว่าสิ่งที่อาจารย์ทุกท่านพูดถึงมันคือ การประกอบสร้างหรือการก่อรูปของอคติที่แตกต่างกันมาก หรืออย่างที่ท่านใช้คำว่าสุดโต่ง ก็คือมันไปอีกด้านหนึ่งแล้ว มันเป็นความเข้มข้นสุด ๆ และก่อให้เกิดปัญหา สำหรับกลุ่มชาวเล กลุ่มกระเหรี่ยงก็ยังคงมีอยู่ โดยตนก็มองถึงวิธีวิทยาที่จะทำให้อคติจากลงหรืออย่างน้อยให้รู้เท่าทันเหมือนกัน เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับกระเหรี่ยงที่แก่งกระจาน ก็จะเห็นว่ากลุ่มหนึ่ง saveบางกลอย อีกกลุ่มหนึ่ง saveแก่งกระจาน แล้วต่างคนก็ต่างจะดูและมุ่งมั่นในเรื่องของตัวเอง จนกระทั่งมุมมองมันแคบแล้วเราไม่มองอย่างอื่น เพราะฉะนั้นคิดว่าวิธีวิทยาอันหนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับการรู้ ซึ่งหมายถึงมีข้อมูลหรือมีอะไรอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่รับรู้โดยตรงทั่วไปเป็นขั้นที่หนึ่ง คือ จากความรู้ (knowledge) ขั้นที่สอง เป็นเรียนรู้ (learn) คือในส่วนนี้คิดว่า เราน่าจะมีเรื่องคิด (think) การมองกลับ (reflex) แล้วก็เรื่องการตั้งคำถาม (Questioning) มันจะมีโอกาสนี้ไหม ที่มานุษยวิทยาจะช่วยส่งเสริมให้เกิดขั้นที่สองได้อย่างไร เมื่อเรามีประสบการณ์ เรามีข้อมูล เรามีทฤษฎี ขั้นที่สามคิดว่าไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ความเข้าใจ (understand) แล้วก็มีฝรั่งที่พยายามแปลคำว่าเข้าใจ เวลาเราใช้คำว่า understand เราก็เข้าใจ และเขาใช้อีกคำหนึ่งคือ entering the heart เข้าไปถึงในใจเลย เมื่อนั้นเราก็จะได้ reframe หรือ rethink ว่าตกลงเราอคติหรือเปล่า ตกลงที่เราเชื่อมันเป็นเรื่องสุดโต่งหรือเปล่า มันก่อให้เกิดปัญหาหรือเปล่า คิดว่าอันนี้เป็นวิธีวิทยา แล้วอย่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรทำเรื่องทักษะทางวัฒนธรรม ซึ่งก็อาจมีขั้นอีก ขั้นที่มีการรับรู้ เริ่มเห็น เริ่มลงมือ หรืออีกขั้นหนึ่งก็คือร่วมรู้ร่วมทุกข์ไปกับกลุ่มที่ถูกเบียดเป็นกลุ่มชายขอบ ก็เลยมองว่าการก่อรูปของอคติเราจะไปแทรกแซงอย่างไร ถ้ามันเข้มข้นจนกระทั่งเป็นอคติที่ก่อให้เกิดความโกลาหนแล้ว เราจะค่อย ๆ ไปช่วยทำให้ซาลงได้อย่างไร หรือทำให้เกิดการรับฟังกันเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

              ท้ายงานเสวนา อาจารย์ ดร. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์  ผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวขอบคุณ อาจารย์ทุกท่านที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “โลกพ้นอคติ : อุดมคติและวิธีวิทยาของการอยู่ร่วมกัน” ที่มีการกล่าวถึงตั้งแต่ประเด็นเรื่องอคติจากนักมานุษยวิทยาที่ลงสนาม ไปจนถึงการมองเห็นอคติที่กว้างขึ้นในสังคม โดยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกนำไปคิดต่อหรือต่อยอด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องนี้ต่อไป

 

288791438 430127095658136 5125233489545307191 N