รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี 2565
สัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ครั้งที่ 21
เครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้เห็นถึงความสำคัญของผลิตผลที่บัณฑิตสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้สรรค์สร้างขึ้นในรูปแบบของวิทยานิพนธ์ การผู้จัดการประชุมจึงได้เปิดทำการคัดเลือกวิทยานิพนธ์ดีเด่น สำหรับการสัมมนาเครือข่ายในปี พ.ศ.2565 ภายใต้หัวข้อ “Making sense of the worlds : วิธีวิทยาของการประกอบสร้างโลกที่เราอยู่” เพื่อให้ประชาคมเครือข่ายบัณฑิตศึกษาได้ตระหนักถึงผลงานที่มีความโดดเด่น ตลอดจนสะท้อนถึงประสบการณ์การทำงานวิชาการในระดับบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะคุณูปการของการใช้ “วิธีวิทยา” ในฐานะกระบวนการทำงานวิชาการซึ่งนำมาสู่นวัตกรรมทางความรู้และสะท้อนความเข้าใจใหม่ๆ ในสังคม
การพิจารณารางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแนวคิด วิธีการ และการนำเสนองานวิจัยระหว่างวงการนักวิชาการรุ่นใหม่ของไทย เพื่อที่ประชาคมและเครือข่ายนักศึกษาจะได้สร้างบทสนทนา แลกเปลี่ยนความรู้ และเผยแพร่ผลงานที่ได้รับรางวัลให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล ทางคณะกรรมการได้พิจารณามิติด้านความริเริ่มในเชิงแนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา การนำเสนอวิธีวิทยาใหม่ๆ ในการเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม ตลอดจนการประยุกต์วิธีวิทยาที่หลากหลายเพื่อนำไปสู่ข้อค้นพบและความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบสร้างโลกของผู้คนในสภาวะทางสังคมในมิติใหม่ๆ
คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล ประกอบด้วย :
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปณิธี บราวน์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาจารย์ ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะกรรมการผู้พิจารณารางวัลได้ประเมินวิทยานิพนธ์ และได้ตัดสินให้รางวัลกับผลงานวิทยานิพนธ์ 3 ชิ้น ดังนี้
รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น
“ความเป็นแม่เชิงเทคโน : การประกอบสร้างเชิงภววิทยาของความเป็นแม่”
โดย ปาณิภา สุขสม
ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ที่ปรึกษา : รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกริช สังขมณี
คำเชิดชูผลงานวิทยานิพนธ์ดีเด่น
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อการประกอบสร้าง “ความเป็นแม่” (motherhood) ของมนุษย์ให้มีลักษณะซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในมิติของความสัมพันธ์ทางสังคม ชุมชน เครือญาติ มิติทางกายภาพของการทำงานและการใช้ชีวิต ลักษณะทางชีวภาพของมนุษย์ ตลอดจนการให้คุณค่าทางวัฒนธรรมต่อสถาบันครอบครัว บทบาทเชิงเพศ และความเป็นแม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้เรียกร้องกรอบแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดแต่เป็นเพียงการประกอบสร้างความหมายในเชิงสังคม หากแต่รวมไปถึงภววิทยาหรือการประกอบสร้างโลกของความเป็นแม่ที่คร่อมข้ามความเป็นมนุษย์-วัตถุ-สัญญะ-สังคมด้วย
วิทยานิพนธ์ “ความเป็นแม่เชิงเทคโน” ของ ปาณิภา สุขสม สำรวจบทบาทของเทคโนโลยีในกระบวนการสร้างความเป็นแม่ โดยการเฝ้าติดตามปฏิบัติการของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ความเป็นแม่ก้าวข้ามภววิทยาของความเป็นมนุษย์ออกไป วิทยานิพนธ์นำเสนอเครื่องมือเชิงวิเคราะห์แบบใหม่ผ่านมุมมองแบบหลังมนุษยนิยม และทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ ตลอดจนพัฒนาวิธีวิทยาที่ผู้เขียนเรียกว่า “มาตุพันธุ์วรรณาเชิงเทคโน” (techno-maternography) เพื่อทำความเข้าใจความเป็นแม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีผู้กระทำที่เป็นมนุษย์ วัตถุ เทคโนโลยี และเครือข่ายที่หลากหลายเข้ามาร่วมปฏิบัติการร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ในแง่ของวิธีวิทยา วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ทำความเข้าใจเทคโนโลยีเชิงภววิทยาที่ประกอบสร้างความเป็นแม่ใน 3 เครือข่าย ซึ่งได้แก่ 1) ภววิทยาเชิงพื้นที่ (spatial ontology) ของความเป็นแม่เชิงเทคโน ผ่านการศึกษาติดตามกระบวนการของการปฏิบัติงาน เครื่องมือ และเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของคลินิกและพื้นที่พิเศษอย่างห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2) ภววิทยาเชิงวัตถุ (material ontology) ของความเป็นแม่เชิงเทคโน ผ่านการศึกษาปฏิบัติการเชิงวัตถุภาวะแนวใหม่ (new materialsim) ของอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับเลี้ยงดูลูกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และ 3) ภววิทยาเชิงเครือข่าย (network ontology) ของความเป็นแม่เชิงเทคโน โดยการฝังตัวและการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในเครือข่ายสนับสนุนความเป็นแม่ในรูปแบบและมิติต่างๆ เพื่อดูการไหลเวียนของข้อมูลเชิงเทคนิค ประสบการณ์ของปัจเจก และการสร้างความเข้าใจต่อความเป็นแม่ที่เกิดขึ้นในชุมชน
วิทยานิพนธ์ได้สะท้อนให้เห็นถึงการประกอบสร้างโลกแบบใหม่ของเพศสภาวะ การให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ พลวัตของครอบครัว ตลอดจนเครือข่ายทางวัตถุ-สัญญะ-สังคมที่เข้ามาปรับเปลี่ยนและร่วมนิยามความเป็นแม่ ความเป็นแม่ที่เคยถูกกำกับโดยมนุษย์ และดำเนินไปภายใต้กรอบทาง “วัฒนธรรม” ในแบบเดิมอาจจะไม่ใช่ข้อเสนอที่ตายตัวอีกต่อไป วิทยานิพนธ์ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของ “วัฒนธรรมเทคโน” (technoculture) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการสร้างความเป็นแม่ และส่งผลให้ความเป็นแม่มีความสัมพัทธ์ในเชิงภววิทยา ตลอดจนเปิดสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับการทำความเข้าใจอนาคตของมนุษย์ที่เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับสภาวะการเจริญพันธุ์และการเลี้ยงดู