เกี่ยวกับการประชุม
“เครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจำนวน 16 แห่ง ทางเครือข่ายฯ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกปี เพื่อเสริมสร้าง ต่อยอดความรู้ และสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการจากทั่วประเทศโดยเฉพาะกลุ่มที่สังกัดเครือข่ายฯ สำหรับการประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2564 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 20 นี้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ และกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้หัวข้อ “เปลี่ยน”
เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกและสังคมไหนๆ ก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้กระนั้น การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในทางวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็กลับเกิดขึ้นค่อนข้างช้า นั่นคือหลังจากที่สาขาวิชาทั้งสองถือกำเนิดและตั้งมั่นเป็นศาสตร์เฉพาะทางมาร่วมครึ่งศตวรรษ จินตนาการต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในแวดวงวิชาการไทยก็เช่นกัน การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง การยอมรับถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคม มนุษย์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แม้จะถูกเอ่ยถึง ถูกศึกษาโดยนักวิชาการไทยมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่ในแง่ของอำนาจนำทางวิชาการแล้ว การกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงก็ยังคงอยู่ภายใต้โครงครอบของความกังวลต่อความสูญหายไปของ “สิ่งดีงามจากอดีต” “วัฒนธรรมอันดีงามของไทย” “เอกลักษณ์ความเป็นไทย” ทำให้การศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะอย่างฉับพลันพลิกผันหรืออย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็ยังคงมีที่ทางเป็นรองการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และสืบทอดสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นแบบแผน บรรทัดฐาน เอกลักษณ์ของสังคมไทย
หากแต่ในขณะนี้ สังคมไทยเองและโลกทั้งใบกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งที่มาจากความพลิกผันโดยไม่คาดคิด (disruption) เช่น จากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 จนบีบให้โลกทั้งใบต้องตัดขาดการติดต่อที่ต้องสัมผัสกันโดยตรงทางกายภาพกันไปทั่วโลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวมาค่อนข้างยาวนาน เช่น การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในระดับโลก ที่ประเทศมหาอำนาจทางซีกโลกตะวันออกอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน มีบทบาทนำเหนือประเทศมหาอำนาจในตะวันตกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในเอเชีย นับตั้งแต่ในโลกอาหรับในทศวรรษ 1990 จนถึงทศวรรษ 2000 รวมทั้งกระแสประชาธิปไตยในฮ่องกงและไต้หวัน ที่พลังของคนรุ่นใหม่เติบโตเข้มแข็งจนส่งผลสะเทือนต่อการขยายอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ยังคงไม่ยอมรับความเป็นเอกเทศของไต้หวัน และเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองฮ่องกงหลังการคืนอำนาจการปกครองเกาะฮ่องกงกลับไปอยู่ใต้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ นี่ยังไม่นับภาวะโลกร้อน และการเคลื่อนย้ายผู้คนอันเนื่องมาจากสาเหตุทางเศรษฐกิจ สงคราม และการเมือง ที่ทำให้ภูมิทัศน์ของชาติพันธุ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ในประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงในขณะนี้เกิดขึ้นทั้งหลายมิติและหลายระดับด้วยกัน ในมิติทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นด้วยการผลิตเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้ ยิ่งเมื่อประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้หลักที่ประเทศไทยเคยได้จากการท่องเที่ยวจึงตกวูบ เกิดความชะงักงันจนถึงตกต่ำของเศรษฐกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะกอบกู้กลับมาได้อย่างไร ด้านสิ่งแวดล้อม ทุนขนาดใหญ่ขยายการช่วงชิงรุกล้ำยึดครองทรัพยากรจากชุมชนมากขึ้น ในขณะที่รัฐเองก็มีแนวโน้มยืนอยู่ข้างทุนขนาดใหญ่ ขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมที่ผ่านมาเริ่มก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจนและใกล้ตัวผู้คนในระดับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ชัดจากมลพิษหมอกควันและอากาศในเขตเมืองและอุตสาหกรรม ด้านการเมือง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและอุดมการณ์ทางการเมืองในระยะ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนหลายกลุ่มต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ภายในระยะเวลาเพียง 20 กว่าปีประเทศไทยมีการรัฐประหาร 2 ครั้ง และมีรัฐธรรมนูญใหม่ถึง 3 ฉบับด้วยกัน (รัฐธรรมนูญ 2540, 2550, 2560) จนแม้แต่ในขณะนี้ ความขัดแย้งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ด้านเทคโนโลยี การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลต่างๆ ทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและส่งผลต่อการเกิดรูปแบบสังคม การมีส่วนร่วมและการแทรกแซงทางการเมือง การผลิตและการตลาดแบบใหม่ๆ
การเปลี่ยนแปลงหลากมิติเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกันและกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคนทุกชนชั้น ทุกระดับของสังคม ถ้วนทั่วทุกหัวระแหงในสังคมไทย หากแต่ดูเหมือนว่า ความรู้ของเราจะยังก้าวไม่ทันกับการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ส่งอิทธิพลกว้างขวางและลึกซึ้งเหล่านี้
ในวาระครบรอบ 20 ปีของการสัมมนาเครือข่ายบัณฑิตศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทั้งทบทวนและมองไปข้างหน้า ถึงอนาคตสังคมไทย เพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลกสากล
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นส่งผลต่อความรู้อย่างไร ความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในขณะนี้จะยังสามารถสร้างความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้หรือไม่ การที่จะยังยื้อยุดไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่นั้นจะก่อผลอย่างไรทั้งต่อสังคมเองและต่อวิชาความรู้ นักศึกษาและนักวิชาการด้านนี้จะมีข้อเสนอ มีทางเลือก มีความรู้ใหม่ๆ อย่างไรบ้าง ในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงหลายมิติและหลายระดับเหล่านี้ อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เพียงคำเดียวว่า “เปลี่ยน”
คณะกรรมการจัดงานเห็นว่า หัวข้อ “เปลี่ยน” เป็นคำสั้นๆ ที่ทรงพลัง เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งในแง่ของการสร้างความตระหนักรู้ต่อการเปลี่ยนแปลง และการกระตุ้นให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงในฐานะเป้าหมายหลักที่สำคัญของการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ยิ่งกว่านั้น ประเด็นนี้ยังยังครอบคลุมใจความกว้างขวาง สามารถตอบสนองต่อความสนใจร่วมสมัยอันหลากหลายของนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการได้ ไม่ว่าจะเป็นในมิติย่อยๆ ของ เมือง ดนตรี เพศภาวะ วัตถุภาวะ ดิจิทัลภาวะ ทรัพยากรธรรมชาติ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
ตลอดจนสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วานร พืชพันธุ์ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกับคำว่า “เปลี่ยน” ทั้งสิ้น นอกจากนี้หัวข้อ “เปลี่ยน” ยังสอดคล้องกับประเด็นทางวิชาการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กำลังให้ความสำคัญ ได้แก่ ประเด็นเรื่องการลดอคติในสังคมไทยและมานุษยวิทยาสาธารณะ การลดอคติก็คือการสร้างความตระหนักเพื่อ “เปลี่ยน” ความคิดของผู้คนที่มีต่อตนเองและผู้คนที่แตกต่างทางสังคม-วัฒนธรรม ส่วนมานุษยวิทยาสาธารณะก็มีเป้าประสงค์เพื่อ “เปลี่ยน” แปลงสังคมไปสู่เป้าหมายที่ดีขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ นั่นเอง
ในฐานะคณะผู้จัดงานสัมมนาเครือข่ายฯ ประจำปีครั้งนี้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีความมั่นใจว่า งานสัมมนาเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะช่วยสานต่อและสรรค์สร้างบทสนทนาทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ไม่เพียงเพื่อให้เท่าทันกับโลกที่กำลัง “เปลี่ยน” แต่ยังเพื่อมีส่วนในการ “เปลี่ยน” โลกใบนี้ด้วยเช่นกัน